วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดเวทีเสวนาฯ จัดเสวนาเรื่อง “ผู้นำยุคใหม่ ห่วงใยบ้านเมือง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาค” โดยมี นายพลเดช ปิ่นประทีป โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดการเสวนา มีสมาชิกวุฒิสภา เครือข่ายครอบครัวการเมืองวิถีใหม่ เยาวชนจาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เข้าร่วม โดยมี ศ.ดร. สุชาติ อุทัยวัฒน์ ประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดเสวนาเป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้
นายพลเดช ปิ่นประทีป โฆษกคณะกรรมาธิการการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เยาวชนจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ Soft Power ด้านวัฒนธรรม คือ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาค ให้แก่ผู้เข้าร่วมการเสวนาและเป็นการสร้างพลังความสามัคคี ไม่เกิดความแตกแยกทางการเมือง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองอย่างยั่งยืน ถือเป็นโอกาสในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาค ที่เป็น Soft Power อันจะเป็นการสร้างพลังความสามัคคีอีกทางหนึ่งด้วย ภายในงานเสวนามีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การมีส่วนร่วมของเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ 4 ภาค” โดย นายพลเดช ปิ่นประทีป โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เวทีการเสวนาเรื่อง “ผู้นายุคใหม่ ห่วงใยบ้านเมือง” ซึ่งมีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้แทนเยาวชน 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “กลองสะบัดชัยและฟ้อนขันดอก” จากภาคเหนือ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “มโนราห์และดีเกร์ฮูลู” จากภาคใต้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “ลำโทนและลิเก” จากภาคกลาง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “หมอลำ หมอแคน เทิดพระเกียรติและกลองยาวชาวมหาสารคาม” จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยวัตถุประสงค์การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเกิดความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้ Soft Power ด้านวัฒนธรรม เป็นการสร้างพลังความสามัคคีส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองอย่างมั่นคงและยั่งยืน สร้างจิตสาธารณะให้ผู้นำรุ่นใหม่มีความรับผิดชอบ เสียสละเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นในจารีตประเพณี และความกตัญญูต่อสังคม การเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งสิ้น300 คนจากเครือข่ายทั้ง 4 ภาค