กองทุนดีอี BDE สนับสนุน มช. พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ พร้อมผลักดันโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ ป้องกันระวังภัย PM2.5
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากร BDE/DEF ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะอาจารย์ เจ้าหน้าที่โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมให้การต้อนรับ
นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้ง จะได้รับทราบผลสำเร็จและการพัฒนาโครงการการต่อยอดในการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัล และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้ง การขับเคลื่อนของโครงการในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและบริการของทางภาคเหนือ
ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัล ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่น ตามเป้าหมายของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“ผมขอชื่นชมในความสำเร็จของ โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภาคเหนือของไทย ที่ไม่เพียงแต่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีบทบาทในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับภาคเหนือ การเปลี่ยนแปลงนี้เองจะช่วยให้ภาคเหนือก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน รวมถึงเป็นพลังสำคัญส่วนหนึ่งในการส่งเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทยในระดับสากลอีกด้วย”
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการและป้องกันปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนบน ด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เล็งเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานต่อผู้คนในชุมชน จึงมอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชนภาคเหนือตอนบนด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัย ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ เพื่อจัดการปัญหาหมอกควันโดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในการช่วยเตือนภัยและป้องกันประชาชนในชุมชนจากภัยที่มาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวและป้องกันตนเองจากโรคภัยที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งโครงการนี้จะกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักและป้องกันภัย ลดอัตราการเจ็บป่วย และเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่าของหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ในการรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน ส่งเสริมการเป็นอัจฉริยะในด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลเตือนภัยได้ง่ายและทันท่วงทีด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฤน หรือผ่านหัวหน้าเครือข่ายในหมู่บ้านนั้นๆ
เบื้องต้นทางโครงการได้เลือกหมู่บ้านต้นแบบในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ทำการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยต้นแบบไว้ ทั้งหมด 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านโฮ่ง, ตำบลป่าพลู, ตำบลเหล่ายาว, ตำบลศรีเตี้ย และตำบลปลาสะวาย มีหมู่บ้านทั้งหมดจำนวน 62 หมู่บ้าน จำนวน 80 จุด และติดตั้งในสถานที่ราชการ จำนวน 18 แห่ง ซึ่งจุดเด่นของอุปกรณ์นี้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 และ PM10) แบบออนไลน์ชนิดไร้สาย วัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และความชื้นสัมพัทธ์อากาศ, ค่าแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ บอกตำแหน่งที่ตั้งชุดวัดฝุ่น เก็บข้อมูลการตรวจวัดอากาศตลอดเวลาที่เปิดเครื่องผ่านระบบเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ มีการแจ้งเตือนผ่านกลุ่ม Line Notify เมื่อประชาชนได้รับการเตือนภัยด้วยเครื่องเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัย ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ ว่ามีค่าเกินมาตรฐาน ก็จะทำการป้องกันตนเองและแจ้งเตือนบุคคลในครอบครัวในการดูแลสุขภาพ หากเกิดภาวะที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานติดต่อกัน ก็ยังมีการสร้างระบบห้องควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบอัตโนมัติในชุมชน โดยพิจารณาเลือกสถานที่ที่กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็กและผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวกและทันท่วงที ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.เหล่ายาว, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.ป่าพลู, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองปลาสะวาย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยหละ, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านโฮ่ง และห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง ด้วย.