คณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมมือกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย เดินหน้าวิจัยการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Hub of Talents in Cancer Immunotherapy (TTCI) นำโดย ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยอาจารย์และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี , มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ มช.พร้อมเข้าเยี่ยมชม ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มช.
โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยเฉพาะในด้านเซลล์บำบัด วิศวกรรมเซลล์ และวัคซีนรักษามะเร็ง ตั้งแต่การวิจัยในห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงการศึกษาทางคลินิก นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมการเชื่อมโยงงานวิจัย ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ เพื่อเร่งการนำงานวิจัยไปสู่การใช้จริงทางคลินิก การสร้างระบบ และมาตรฐานการรักษา ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งในโรงพยาบาล และการยกระดับงานวิจัย ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันชั้นนำระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
นอกจากนี้ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ยังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “Innovations and Networks in Immunotherapy : Bridging Academia and Clinical Applications” ให้แก่ นักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานในสาขาภูมิคุ้นกันบำบัดมะเร็ง จากหลายมหาวิทยาลัยของประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ , คณะเทคนิคการแพทย์ , คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญระหว่างนักวิจัย และผู้ปฏิบัติงาน มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างงานวิจัยและการประยุกต์ใช้ทางคลินิก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน ณ ห้องประชุมทองกวาว สำนักบริการวิชาการ มช.
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า มะเร็งถือเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลกที่ท้าทาย แม้ว่าจะมีวิธีการรักษาหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายรังสีแต่การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ยังไม่สามารถให้ผลการรักษาที่หายขาด ในผู้ป่วยทุกคน และมักมีผลข้างเคียงที่รุนแรง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่กระตุ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สามารถโจมตีเซลล์มะเร็งได้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะตรวจจับ และทำลายเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งมีหลายวิธี เช่น การดัดแปลงเซลล์ภูมิคุ้มกันให้โจมตีเซลล์มะเร็ง, การใช้แอนติบอดีเพื่อกระตุ้นการทำลายเซลล์มะเร็ง, และการใช้วัคซีนมะเร็งเพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันให้ทำลายเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ภูมิคุ้มกันบำบัดถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง ด้วยข้อดีหลายประการ ได้แก่ ความแม่นยำและเฉพาะเจาะจงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง,ความสามารถในการควบคุมและกำจัดมะเร็งหลาย ประเภท, การฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งและการแพร่กระจาย, รวมถึงมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม
ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มช. มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ด้วยทีมบุคลากรที่ประกอบด้วยอาจารย์ แพทย์ และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ได้แก่ อณูชีววิทยา (Molecular Biology), ภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology), ชีววิทยาของมะเร็ง (Cancer Biology), ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และวิศวกรรมโปรตีน (Protein Engineering) ด้วยการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทีมวิจัยมุ่งเน้นการค้นหาเป้าหมายใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเซลล์ และศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เม็ดเลือด ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการศึกษาการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในระดับคลินิกอีกด้วย.