วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม 3 กองบังคับการอำนวยการ พลตำรวจโท ฐากูร นัทธีศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พลตำรวจตรี วิวัฒน์ สีลาเขตต์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 พร้อมหน่วยงานในสังกัดตำรวจภูธรภาค 3 และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจำนวน 12 หน่วย ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา, แขวงทางหลวง นครราชสีมาที่ 1, 2, และ 3, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3, สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา, ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา, สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จว.นครราชสีมา และ มูลนิธิกู้ภัยในพื้นที่ จว.นครราชสีมา ได้เข้าร่วมประชุมบูรณาการเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ด้านจราจรและความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) และตำรวจภูธรจังหวัดที่มีพื้นที่เส้นทางติดต่อกับตำรวจภูธรภาค 3 ประกอบด้วย ตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี สระบุรี, ปราจีนบุรี สระแก้ว และขอนแก่น เข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปมาตรการปฏิบัติแบบบูรณาการในการอำนวยความสะดวกการเดินทางของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยหน่วยงานภาคี ทุกหน่วยได้รายงานต่อที่ประชุมแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ ที่เตรียมไว้ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ
ซึ่งตำรวจภูธรภาค 3 ได้เตรียมการบริหารจัดการ โดยในช่วงการควบคุมเข้มข้น (7 วันแห่งความสุข) ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 จะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด และกำหนดเปิดศูนย์อำนวยความสะดวกการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ของตำรวจภูธรภาค 3 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2566 – 5 มกราคม 2567 เพื่อกำกับ ดูแล และติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยในสังกัด ในการอำนวยความสะดวกการจราจร ดูแลความปลอดภัย และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ให้กับประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 นี้ ตามนโยบายรัฐบาล “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ในทุกพื้นที่ โดยวางแผนตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจรและจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จำนวน 305 จุด เตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 283 ชุด มีเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ จำนวน 1,016 เครื่อง และเครื่องตรวจจับความเร็ว จำนวน 91 เครื่อง ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติ ทั้งสิ้น 4,392 นาย นอกจากนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานฝ่ายปกครองในการปรับรูปแบบจากจุดบริการประชาชนมาเป็นการตั้งด่านชุมชนแทน โดยบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ได้แก่ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และประชาชนในพื้นที่
กําหนดแผนการตั้งด่านชุมชนจํานวนทั้งสิ้น จำนวน 4,197 แห่ง เพื่อป้องปรามคนที่ดื่มสุราไม่ให้ขับขี่รถออกจากหมู่บ้าน ชุมชน ไปเกิดอุัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่รถที่เกิดเหตุทุกรายและหากพบว่ามีการดื่มสุราแล้วขับรถจะดำเนินคดีโดยไม่มีละเว้น ในมาตรการเชิงรุก ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ ออกตรวจและขอความร่วมมือร้านจำหน่ายสุราในชุมชน หมู่บ้าน ทุกแห่ง ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เช่น ห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ เป็นต้น
โดยในปีนี้ กรมทางหลวง ได้เปิดให้บริการใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ M6 ช่วงปากช่อง – สีคิ้ว – ขามทะเลสอ – ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204) ทั้งขาไปและขากลับ ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร โดยกำหนดจุดเข้า – ออก มอเตอร์เวย์ M6 ดังนี้
จุดที่ 1 ทล.2 กม.65 (ตรงข้ามศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์)
จุดที่ 2 ทล.201 กม.5+500 (บ้านหนองรี อ.สีคิ้ว)
จุดที่ 3 ทล.290 กม.14+775 (วงแหวน ทล.290)
จุดที่ 4 ทล.204 กม.3+230 (ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา)
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ขับเคลื่อนจราจรไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน Traffic Forward รวดเร็ว ปลอดภัย เข้าใจ ไปด้วย
ภาพข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.นครราชสีมา