ข่าวรัฐสภา

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล และการดำเนินงานสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของจังหวัดศรีสะเกษ

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ชั้น 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เดินทางลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
.
โดยผู้แทนบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม เรื่อง ขอยืนยันแสดงเจตจำนงขอถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ต่อ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ
การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
.
จากนั้น คณะกรรมาธิการได้รับฟังบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญต่าง ๆ
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการเพื่อให้บริการสาธารณะประโยชน์ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ด้านการจัดการศึกษา โดยมีโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 39 แห่ง และโรงเรียนทุกแห่งได้นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน 2) ด้านการบริการสุขภาพ จัดให้มีการบริการด้านสุขภาพในหน่วยบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โครงการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น 3) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายสายทางคมนาคม และการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และ 4) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้ส่งเสริมอาชีพในการพัฒนาผ้าของจังหวัดศรีสะเกษ

.
ส่วนในด้านการบริหารงบประมาณ พบปัญหาอุปสรรค ดังนี้ 1) ปีที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากถูกตัดไปเป็นเงินเดือนสำหรับข้าราชการถ่ายโอน ซึ่งแตกต่างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่ไม่มีภารกิจถ่ายโอน 2) การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่
.
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษมีแนวคิดในการนำ Platform Digital มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชน อาทิ การให้บริการจดทะเบียนออนไลน์น้ำมัน/ก๊าซ ผ่าน Application line การรับชำระภาษี และระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ รับถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา
นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุขในครั้งแรก จำนวน 117 แห่ง และรับถ่ายโอนครั้งที่ 2 ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4 แห่ง ปัญหาอุปสรรคในการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ประกอบด้วย 1) กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่แจ้งรายชื่อและคำสั่งให้โอนของข้าราชการถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ตามกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด 2) สำนักงบประมาณไม่จัดสรรงบประมาณ อาทิ เงินเดือน เงินสวัสดิการ งบพัฒนาคุณภาพและ รพ.สต. ถ่ายโอน (S M L) อีกทั้งยังมีความเห็นที่เรื่องกรอบอัตรากำลังที่แตกต่างจากมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างไม่เป็นธรรม โดย สอน. และรพ.สต. ที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับจัดสรรต่ำกว่า สอน. และ รพ.สต. ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน