ชุมชนบ้านบางประ รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน โดยป่าทุ่งน้ำหนองหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หนึ่งในระบบนิเวศที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ลักษณะเป็นทุ่งขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามฤดูกาล หน้าแล้งน้ำจะแห้ง หน้าฝนน้ำจะหลาก จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด อีกทั้งป่าชุ่มน้ำอยู่ตรงกลางของทุ่ง ซึ่งน้ำจะท่วมขัง 8-9 เดือน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น จันทร์กระพ้อ หว้า ยางนา ทำหน้าที่ลดความรุนแรงและชะลอน้ำในช่วงน้ำหลาก
จากการเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ดินและทำประมงอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้ป่าทุ่งน้ำเสื่อมโทรม ชุมชนบ้านบางประจึงร่วมกันปกป้องและเฝ้าระวังการบุกรุก จัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าทุ่งน้ำหนองหลวง ร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง ในพื้นที่ 1,780 ไร่ มีการบวชป่าและปลูกป่าเพิ่มเติม จัดทำแนวกันไฟรอบพื้นที่ป่าที่มีพันธุ์ไม้สำคัญ เช่น ต้นจันทน์กระพ้อมากกว่า 1,000 ต้น และเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 พื้นที่ 11 ไร่ มีต้นไม้เก่าแก่เหลืออยู่มาก ทั้ง สมอ ดีงู ยางนา หว้า หัน อินทนิล ตะเคียน ชุมชนจึงนำมาจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์บ้านบางประ เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งช่วยเฝ้าระวังรักษาป่าในทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังทำกิจกรรมหลากหลายต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้งหญิงชาย เด็กและเยาวชน เช่น การปลูกป่า บวชป่า ช่วยปลูกฝัง ส่งผ่าน และสร้างสำนึกอนุรักษ์แก่คนในชุมชนและเยาวชน
ปัจจุบันผืนป่ากลับมาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ทรัพยากรธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์ จำนวนและชนิดสัตว์น้ำมีจำนวนมากขึ้น ปลาบางชนิดที่หายไปก็กลับคืนมา ความสำคัญและคุณค่าของป่าทุ่งน้ำหนองหลวงยังได้สร้างวัฒนธรรมปลาภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ วิถีชีวิต การหาอยู่หากิน และความรู้พื้นถิ่น เช่น การฟื้นภูมิปัญญาทำหลุมดักปลาในฤดูน้ำหลาก เพื่อเก็บไว้กินในหน้าแล้ง สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งเป็นแหล่งอาหารแก่คนในชุมชน ยังเลี้ยงปากท้องคนในหลายชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะในวิกฤตโรคระบาดโควิด 19