19 มีนาคม 67 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งคาดการว่าปีนี้พื้นที่ประสบภัยที่จะเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้ง และการประเมินความเสี่ยงของอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเสี่ยงในพื้นที่สูง และคาดการณ์พื้นที่ที่จะเกิดภัยแล้ง (เสี่ยงน้อยมาก) มีจำนวน 19 อำเภอ 126 ตำบล 838 หมู่บ้าน พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษด้านน้ำอุปโภคบริโภค 2 อำเภอ คือ อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน ขณะที่ความเสี่ยงด้านการเกษตร ด้านพืช มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง (เสี่ยงน้อยมาก) มี 19 อำเภอ 130 ตำบล คิดเป็น 1.34 % ของเนื้อที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนด้านประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังภัยแล้ง 5 อำเภอ 23 ตำบล ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 2,123 ฟาร์ม เนื้อที่เพาะเลี้ยง 1,470 ไร่
นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำและมาตรการการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ประชาชนสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการขอรับความช่วยเหลือจากทางราชการและเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพื่อป้องกันความขัดแย้งในประเด็นการแย่งน้ำด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงใยในเรื่องของการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งหรือหน้าร้อน เช่น อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน พร้อมกับให้ความรู้ในการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและถูกสุขอนามัย
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า จากปรากฏการณ์เอลณีโญและลานีญา คาดว่าปรากฎการเอลโชที่อยู่ในสภาวะเอลณีโญกำลังแรงจะอ่อนลง และต่อเนื่องถึงช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2567 จากนั้นจะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเมษายนถึงมิถุนายน และมีความน่าจะเป็นร้อยละ 68 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2567 ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย ส่วนอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติ อย่างไรก็ตามยังมีข้อระมัดระวังในเรื่องของพายุฤดูร้อน ที่จะมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจจะมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาได้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศประจำวันจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง.