ข่าวประชาสัมพันธ์

50 โรงเรียนทั่วไทยรับมอบ “กล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์” พร้อมเรียนรู้ปูทางสร้างแนวคิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน

50 โรงเรียนทั่วไทยรับมอบ “กล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์”
พร้อมเรียนรู้ปูทางสร้างแนวคิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายผลโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เดินหน้ามอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 50 โรงเรียน ดันให้เกิดครุวิจัยและยุววิจัย เพิ่มจำนวนงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ดึงครูแกนนำร่่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงงานดาราศาสตร์

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในปี 2558-2561 สดร. ได้มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ 360 โรงเรียนทั่วประเทศ เกิดเป็นกิจกรรมดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียน และชุมชนมากกว่าพันกิจกรรม เกิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนหลายร้อยโครงงาน ในปี 2562 นี้ นอกจากการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชนแล้ว สดร. ยังมุ่งหวังให้นำกล้องโทรทรรศน์ไปใช้เพื่อสร้างงานวิจัย ดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน สร้างครุวิจัย และยุววิจัยดาราศาสตร์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2562 นี้ มีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเข้ารับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จำนวน 50 โรงเรียน จาก 39 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ และร่วมเวิร์คชอปการทำโครงงานดาราศาสตร์เบื้องต้น ร่วมกับ 8 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีก่อนหน้านี้ เพื่อฝึกทักษะการใช้งานกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ที่หลากหลาย

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้องโทรทรรศน์ในโครงการฯ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว สดร. ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทย ออกแบบ สร้างและพัฒนาจนได้ กล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงเรียน ใช้สำหรับสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว เป็นต้น มีอุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดเลนส์ใกล้ตา กำลังขยายตั้งแต่ 37 ถึง 100 เท่า และ อุปกรณ์เพิ่มกำลังขยายพิเศษ 200 เท่า เป็นต้น สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับวัตถุที่ต้องการสังเกตการณ์ และยังนำกล้องถ่ายภาพดิจิทัลมาเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพดาวเคราะห์และวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ได้ ใช้เก็บข้อมูลทำโครงงานดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ตลอดจนติดตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งในปีนี้มีทั้งดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาบางส่วน เห็นได้ ทั่วประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการสังเกตดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน นำไปศึกษาเป็นโครงงานดาราศาสตร์ได้

นางสุภารัตน์ พิบาลฆ่าสัตว์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและสนับสนุนโครงงานดาราศาสตร์ โรงเรียนมุสลิมวิทยาภูเก็ต จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกในเข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมาทำโครงงานดาราศาสตร์ทุกปี มีอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ สถาบันราชภัฎภูเก็ต มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และนำกล้องดูดาวมาให้นักเรียนใช้ ที่โรงเรียนมีแค่แผนที่ดาว การได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ครั้งนี้จะทำให้นักเรียนได้ฝึกใช้กล้อง และเริ่มทำโครงงานดาราศาสตร์มากขึ้น เช่น การสังเกตดวงจันทร์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ และเนื่องจากเป็นโรงเรียนมุสลิม จึงวางแผนร่วมกับชุมชน ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์ก่อนช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนหรือวันที่จะออกบวช

ด้านนางศรุตยา ลุนสะแกวงษ์ ครูชำนาญการ โรงเรียนตราษตระการคุณ จ.ตราด เคยได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ ดาราศาสตร์ฯ ปี 2560 กล่าวว่า เดิมโรงเรียนเน้นใช้กล้องโทรทรรศน์จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อทราบข่าวจึงสนใจเข้าร่วมอบรมเพื่อนำแนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ไปเผยแพร่แก่นักเรียนได้ทดลองทำ เช่น โครงงานเกี่ยวกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตการณ์และถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้ง คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยได้

นายอภิรัก อภิวงค์งาม ครูโรงเรียนแกน้อยศึกษา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หนึ่งในครูเครือข่ายโครงการอบรมครู ดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. และเคยนำนักเรียนร่วมเสนอโครงงานดาราศาสตร์ในเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำโครงงานดาราศาสตร์ในครั้งนี้ โรงเรียน แกน้อยศึกษาเป็นโรงเรียนขยายโอกาสอยู่ห่างไกลเมืองและไม่มีวิชาที่เน้นให้เด็กทำโครงงานดาราศาสตร์ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการทำโครงงานดาราศาสตร์ต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อม มีโปรแกรมขั้นสูงในการประมวลผลและเก็บข้อมูล แต่จริง ๆ แล้ว แค่มีอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับสังเกตการณ์ง่าย ๆ บวกกับความสนใจของเด็ก ก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐานต่างกันอย่างไร แต่ก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้เหมือนกัน

พิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เพื่อพัฒนาโครงงานดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จ.นครราชสีมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของ การกระตุ้นการสร้างโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน จะช่วยต่อยอดความสนใจวิทยาศาสตร์และ ดาราศาสตร์แก่ครูและนักเรียน ให้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาความคิด ประยุกต์ให้เกิดเป็นผลงานวิจัย พัฒนาศักยภาพครุวิจัยและยุววิจัยไทยอันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศชาติต่อไป

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313