ข่าว สรุาษฎร์ธานี

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ และ สำนักงาน กสทช. ร่วมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อระดับประชาชน มุ่งสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) คิดสร้างสรรค์ เท่าทันเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ (รู้ kid รู้ทันสื่อ ระดับประชาชน) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สร้างการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อในปัจจุบันสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งในโลกแห่งความจริงและบนพื้นที่เสมือนหรือบนสื่อโซเชียลมีเดียที่เรานิยมใช้อย่างแพร่หลาย

“ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของสังคม เราต้องมีการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม มีทักษะในการใช้สื่อและเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย รู้สิทธิและผลกระทบที่อาจเกิดจากการใช้สื่อดิจิทัล รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย มีรายวิชาพื้นฐานสำหรับผู้เรียนคือ รายวิชาความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน และเพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล” รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าว

นายวิรุท แก้วสงค์ กำนันตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับสื่ออย่างหลากหลาย ทั้งการใช้สื่อ การตรวจสอบสื่อ การวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อประเภทต่างๆ โดยตลอดการอบรมมีทั้งสาระความรู้และความสนุกสนาน ซึ่งมีประโยชน์ที่นำไปใช้ได้ และยังสามารถนำความรู้ไปบอกต่อลูกบ้านและสมาชิกคนอื่นในชุมชนได้อีกด้วย

อาจารย์ ดร.สังกมา สารวัตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนประจำโครงการฯ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาจำนวน 50 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการระดับอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมระดับประชาชนให้มีองค์ความรู้ มีทักษะและสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้กรอบการเข้าถึง เข้าใจ เข้าไปมีส่วนร่วม ในการใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกิจกรรม “สุราษฎร์ธานี มีฤทธิ์ (MeRit) คิดทันสื่อ” ภายใต้โครงการรู้ kid รู้ทันสื่อ (ระดับประชาชน) จัดขึ้นเพื่อสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้นำชุมชนให้มี “ทักษะการรู้เท่าทันสื่ออย่างรู้ตัว” คือต้องมีความสามารถตีความ วิเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสาระของสื่อ และสามารถตอบโต้ได้อย่างมีสติและรู้ตัว และมี “ทักษะการใช้สื่ออย่างตื่นตัว” คือรู้จักแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อเพื่อใช้ประโยชน์ รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อให้ดีขึ้น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 4 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและทรัพยากรมนุษย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์ เป็นวิทยากรให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนาชุมชน และประชาชนกลุ่มแกนนำชุมชนเข้าร่วมกว่า ๕0 คน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ขยายผลโครงการโดยการกำหนดจัดกิจกรรม “คนใต้รู้หวันทันสื่อ” ด้วยแนวคิดการนำซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) มาสอดแทรกเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล โดยนำเอาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “หนังตะลุง” มาเป็นเครื่องมือการสื่อสารในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมๆกับความเพลิดเพลินและอรรถรสความตลกขบขันตามความนิยมของคนท้องถิ่นภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) “สอดแทรก” แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายด้วยการสื่อสารผ่านสื่อพื้นบ้านหนังตะลุง (2) “ส่งเสริม” ให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัลให้กับประชาชน และ (3) เพื่อ “สืบสาน” ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวใต้ให้สามารถโลดแล่นอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลสมัยใหม่ได้อย่างมีอัตลักษณ์ศักดิ์ศรี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป

ภาพและข่าวโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี