18 ตุลาคม 67 รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.กระทรวง อว. และคณะผู้บริหาร แถลงข่าวส่งมอบเรือกู้ภัย Wi-Fi เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยมี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการบริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้แทนรับมอบ ณ บริเวณด้านหน้าห้องแถลงข่าว สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 17 ต.ค.67 ที่ผ่านมา
“ ซึ่งเรือกู้ภัย Wi-Fi เป็นผลงานที่เกิดจากการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานในสังกัด อว. คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นพื้นที่ (บพท.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นความสำเร็จของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจากภูมิปัญญานักวิชาการไทย ในการจัดการภัยพิบัติ เป็นเรือที่ต้นทุนไม่สูง การใช้งานไม่ซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย และมีคุณลักษณะพิเศษของเรือท้องแบนที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่น้ำตื้น 20-30 เซ็นติเมตร สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 40 กิโลกรัม การติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณ Wi-Fi ในรัศมีไม่เกิน 30 เมตร มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด มีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องกัน 4 -6 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ ที่สามารถจ่ายไฟสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ 12 เครื่อง พร้อมกับชุดสวิตซ์เซฟตี้ เพื่อความปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้ไฟฟ้าช่วงน้ำท่วม ซึ่งมีภาวะติดขัดเรื่องการจำหน่ายไฟฟ้า ให้สามารถสื่อสารกับผ่านนอกได้ เรือกู้ภัย Wi-Fi ที่จะส่งมอบแก่มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก มีจำนวน 8 ลำ สำหรับจัดสรรกระจายยังเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) 8 ชุมชน ใน 7 จังหวัด เพื่อนำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือที่ สุโขทัยและพิษณุโลก จำนวน 2 ลำ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ชัยภูมิและสกลนคร จำนวน 2 ลำ และทางภาคใต้ ที่พัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ลำ “ รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ “ กล่าว
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ยักล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ที่มาของเรือกู้ภัย Wi-Fi เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ โดยบูรณาการร่วมกันของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เรื่องภัยพิบัติแก้ไขปัญหาอุทกภัย และฟื้นฟูชีวิตครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังถูกนำไปใช้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยอีกด้วย ทั้งนี้ การบูรณาการระบบเทคโนโลยีเข้ากับเรือกู้ภัย Wi-Fi เป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาและปรับใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศอีกด้วย
นูอารีซ๊ะ ยะยือริ รายงาน