Uncategorized

บุรีรัมย์ เตรียมจัดมหกรรมงานวิจัย นำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพบนเวทีระดับชาติ เน้นงานใช้ได้จริง มุ่งหวังเผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์นำไปต่อยอด

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เตรียมจัดงาน มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2562” ที่บุรีรัมย์ เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัยในเครือข่ายทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ นำสู่การใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเชิงสร้างสรรค์ เป็นฐานในการต่อยอดผลงานผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ก้าวสู่มาตรฐานและ ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สูงขึ้นอย่างมั่นคง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วันนี้ (19 ก.พ.62) ที่ห้องประชุมพุทธรักษา อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เดินทางพร้อมด้วย รศ.มาลิณี จุโฑปะมา รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ดร.พิสมัย ประชานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ร่วมแถลงข่าว การเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ (Thailand Research Expo ) เผื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพในเวทีระดับชาติของเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ และนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ที่สามารถใช้ได้จริง มุ่งหวังให้ผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัย ได้เผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์

โดยได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” ครั้งที่ 7 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2562 ภายใต้ชื่อ “ งานวิจัยสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เป็นฐานในการต่อยอดผลงานผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ก้าวสู่มาตรฐานในระดับต่างๆอย่างมั่นคง ส่งผลให้เกิดการขยายตัว ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สูงขึ้นอย่างมั่นคง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมและปรึกษาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ภายในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค นี้ เป็นงานใหญ่ประจำปีที่รวมสุดยอดของนวัตกรรมงานวิจัยที่มีประโยชน์ ในเชิงพื้นที่เข้าไปจัดแสดงกว่า 50 คูหา และได้มีการจัดประชุมวิชาการที่มีการนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยที่สามารถทำวิจัยได้ ตรงตามความต้องการของประชาชน หรือผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานมากที่สุด โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ซึ่งต่างกับในอดีตที่ทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นงานวิจัยที่สามารถใช้งานได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อผู้นำไปต่อยอดได้ประโยชน์อย่างสูงสุด