กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการเกษตรเพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตร
วันที่ 18 มกราคม 2567 คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดร้อยเอ็ด
เวลา 09.50 นาฬิกา ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลเมยวดี (แปลงใหญ่ข้าว และศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเมยวดี) ตำบลเมยวดี อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวดีสู่ชาวนาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชนและพัฒนาชาวนาและองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่และงบประมาณสนับสนุนเพื่อยกระดับแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เชื่อมโยงตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด สามารถลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้ามีมาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ พร้อมกันนี้ในอนาคตมีเป้าหมายจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำมันรำข้าว เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯ มีความต้องการเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก ลานตากข้าว เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าว รถบรรทุกข้าว เพื่อลดการใช้แรงงานและลดต้นทุนค่าขนส่ง
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าข้าวโดยการสร้างมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว การกำหนดเป้าหมายการผลิตในแต่ละปีเพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าว การขยายกลุ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การบริการจัดการหุ้นของสมาชิก การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือหรือเครื่องจักรทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ การสร้างเอกลักษณ์ของกลุ่มและสินค้าที่บ่งบอกความเป็นร้อยเอ็ด และคงความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกลุ่มตลอดไป รวมทั้งการเชื่อมโยงกับภาครัฐเพื่อเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาต่อไป
เวลา 15.50 นาฬิกา ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันข้าวที่ผลิตได้ผ่านการรับรองมาตรฐานตรการผลิต GAP มีการผลิตข้าวอินทรีย์แบบครบวงจรตามมาตรฐาน EU มาตรฐาน NOP มาตรฐาน COR และมาตรฐาน JAS มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จัดฐานเรียนรู้เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ เช่น การผลิตข้าว การไถกลบตอซังฟางข้าว การปลูกพืชปุ๋ยสด การเพาะเลี้ยงแหนแดง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้นำเกษตรกรได้นำเสนอประเด็นปัญหาโครงการโคบาลบูรพา ความต้องการในการขยายพื้นที่ประมงน้ำจืดในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น การบริหารจัดการของสหกรณ์ ประเด็นการกำหนดอายุของผู้จัดการสหกรณ์ การสำรองหนี้สูญ นอกจากนั้น ยังได้เสนอประเด็นเพิ่มเติม อาทิ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับโฉนดเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.4-01) และขอให้สนับสนุนระบบเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสานเครือข่าย ศพก. และตระหนักถึงการจัดตั้ง ศพก. ที่รวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกษตรกรเข้มแข็งและยั่งยืน และเชื่อมโยงไปสู่การทำการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ การพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรจากแปลงใหญ่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การขยายเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ไปสู่เกษตรกรรอบข้างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นและเข้มแข็งต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน