เกษตรกร

จันทบุรี-สมาคมการค้าชายแดน จันทบุรี เตรียมพร้อมป้องกันผลกระทบ

จันทบุรี-สมาคมการค้าชายแดน จันทบุรี เตรียมพร้อมป้องกันผลกระทบ

หลังจีนเริ่มใช้ GAP ตรวจวัดคุณภาพผลไม้ไทยที่ส่งออก ประเดิมที่ลำไยนอกฤดู เกษตรกรชาวสวนต้องเร่งปรับตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้พัฒนาคุณภาพ สวพ.6 ออกหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้บริการ
วันนี้ ( 18 ธ.ค.62 ) ที่ห้องประชุมสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จ.จันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรตลาดบ้านแหลม ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน นายพีรณัฐ รัตนวรโอภาส นายอำเภอโป่งน้ำร้อน / ด็อกเตอร์รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา / ผู้แทนสมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ไทย หรือล้ง จำนวนกว่า 50 ล้ง

ได้ร่วมประชุม ทำความเข้าใจกรณีประเทศจีนกำหนดมาตรฐานการซื้อสินค้าเกษตรจากไทย หรือกำหนด “ GAP ” โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของผลไม้ที่ไม่มีสารตกค้าง การขายให้จีนเกษตรกรไทยต้องจัดการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงการเก็บผลิตผล เกษตรกรรายใดไม่ได้ขึ้นทะเบียน GAP กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย จะไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรรายนั้นเด็ดขาด ทำให้จำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจเรื่องนี้ ระหว่างล้งกับชาวสวนผลไม้ จ.จันทบุรี อย่างเร่งด่วน เนื่องจาก จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองและลำไย ตลอดจนผลไม้อื่น ๆ ส่งออกไปขายต่างประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศจีน นำรายได้เข้าสู่ประเทศจากการส่งออกผลไม้มากที่สุดด้วยเช่นกัน ในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งนายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จ.จันทบุรี ซึ่งห่วงว่าชาวสวนผลไม้อีกจำนวนหนึ่งจะไปขึ้นทะเบียนจีเอพีทันต่อการขายผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดภายในเร็ว ๆ นี้ ห่วงเรื่องความเป็นธรรมในการซื้อขายผลไม้ระหว่างชาวสวนกับล้ง จึงได้ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงล้งและชาวสวน กำหนดสัญญากลางขึ้นมา เพื่อความเป็นธรรมของชาวสวนและล้ง ขณะที่ล้งได้สะท้อนปัญหาความไม่สบายใจที่ให้ทุนต่าง ๆ ทั้งปุ๋ย เคมีเกษตร และเงินทุนแก่ชาวสวนลำไย แต่มีชาวสวนบางรายใช้ทุนผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งปัญหาด้านราคาที่รับซื้อลำไยจากชาวสวนด้วย ซึ่งทั้งหมดทุกฝ่ายจะร่วมมือกันค่อย ๆ แก้ปัญหาต่อไป

ด้าน สวพ.6 ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการจดทะเบียน ตรวจคุณภาพผลผลิต แก่เกษตรกรป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ภายหลังการประชุม ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน จันทบุรี เปิดเผยว่า เรื่องการใช้ GAP กับผลไม้ไทย ปีนี้จีนจะกำหนดใช้อย่างเข้มข้น ในส่วนของ อ.สอยดาว กับ อ.โป่งน้ำร้อน เพาะปลูกลำไยกันมาก ส่งออกไปจีนปีละ 8,500 – 9,000 ล้านบาท มูลค่าส่งออกมากเป็นอันดับสองรองจากทุเรียนและขณะนี้เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องนี้พ่อค้าปลายทางจากจีนกำหนดขึ้นมา เพราะต้องการความปลอดภัยและคุณภาพของผลไม้ไทย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้าชาวสวนรายใดไม่มีหนังสือขึ้นทะเบียนจีเอพี จะไม่สามารถขายผลผลิตได้ เพราะล้งจะไม่รับซื้อ แต่ชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี แต่ จ.จันทบุรี ได้เร่งทำจีเอพีไปแล้วกว่า 200,000 ไร่ ซึ่งจะต้องเร่งทำให้เรื่องนี้ให้ครบทุกรายให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ปีนี้เป็นปีแรกที่จีนกำหนดใช้เรื่องนี้อย่างเข้มงวด คิดว่าคงจะมีผลกระทบกับชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี บ้าง เนื่องจากขณะนี้ต่างพากันไปรุมขอทำอย่างล้นหลามพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่ทางราชการเปิดให้ทำมานานแล้ว นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จ.จันทบุรี เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของการรับซื้อผลไม้ โดยเฉพาะลำไย เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องซื้อขาย ระหว่างล้งกับชาวสวน หลายฝ่ายรวมทั้งสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชาวแดนไทย กัมพูชา จ.จันทบุรี , สมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี ชาวสวนและล้ง จึงได้กำหนดสัญญากลางขึ้นมา เพื่อให้การซื้อขายเกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุดต่อไป

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก