ข่าว ร้อยเอ็ด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

พุทธศาสนิกชนวัดสระแก้ว ทำบุญข้าวสากอุทิศส่วนกุศลญาติที่ล่วงลับ หลังมาเข้าฝันจึงต้องมาทำบุญ 

17 กันยายน 2567  ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 พระครูปริยัติวัฒนโชติ ดร. เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว เจ้าคณะอำเภอเมืองร้อยเอ็ด พร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดสระแก้ว นำพุทธศาสนิกชนชาววัดสระแก้วและใกล้เคียง โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติมาฌาปนกิจ และเก็บอัฐิไว้ที่วัด ทำบุญประเพณี บุญข้าวสาก ดำเนินงานโดยนายกรกช กลิ่นขจร และคณะชาวบ้าน ซึ่ง‘บุญข้าวสาก’ ประเพณีสำคัญของชาวไทยภาคอีสาน เดือนกันยายน ปีนี้ 2567 ตรงกับวัน ที่ 17 ก.ย. 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 นับเป็นเดือนสำคัญสำหรับการไหว้และเคารพบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต โดยตามประเพณีจะทำพิธีกรรมกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งญาติบางคนเล่าให้ฟังว่ามีญาติที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าฝันยิ่งต้องมาทำบุญให้ได้

กิจกรรมประกอบด้วย ไหว้พระ ทำบุญตักบาตร บังสุกุล ถวายสลากภัตเชื่อว่าเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ถวายปัจจัยช่วยวัด ค่าน้ำ ค้าไฟ แล้วนำข้าวสากไปวางจุดธูปเทียนเชิญญาติที่ล่วงลับไปแล้วมารับส่วนบุญ  โดย บุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า มีบุตรชายกฎุมพี(คนมั่งมี)ผู้หนึ่งมีเมียสองคนและเมียหลวงอิจฉาเมียน้อยที่มีลูกให้แต่ตัวเองไม่มี ถึงชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี นางยักษิณีจองเวรไล่ตามเมียน้อย ไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา ชาวอิสานจึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า “ตาแฮก”

ก่อนจะถึงวันที่จะต้องทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่างๆอาหารคาวหวาน ห่อที่ 1 คือ หมาก พลู และ บุหรี่ ห่อที่ 2 คือ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย ประกอบด้วย1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว 2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่) เป็นอาหารหวานห่อด้วยใบตองไว้แต่เช้ามืด ข้าวสากจะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว กลัดท้าย มีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับสั้น ต้องเย็บติดกันเป็นคู่  เสร็จจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก

สมนึก บุญศรี  รายงาน