วันที่ 18 กันยายน 2561 เวลา 16.20 นาฬิกา ณ ศูนย์บริการ (Call Center) ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงถึงการประชุม สนช. ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จำนวน 2 ฉบับ โดยเป็นการพิจารณาในวาระที่ 1 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และพิจารณาในวาระที่ 2-3 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. …. จากนั้น จะมีการขอขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกไปอีก 60 วัน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ส่วนวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2561 จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่ 2-3 คือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
โฆษก วิป สนช. เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม วิป สนช. ยังได้มีการพิจารณากฎหมาย 5 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ คือเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการซึ่งออกจากราชการไปแล้วให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้ 1. กรณีที่มีการกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาไว้ก่อนออกจากราชการ ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปเสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ 2. กรณีที่มีการกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาภายหลังจากที่ออกจากราชการแล้ว ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปเสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ 3. กรณีที่มีการเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้ว เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ 4. กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีมติชี้มูลความผิดผู้ที่ออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5. การดำเนินการทางวินัยที่ส่วนราชการดำเนินการเอง หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท.ชี้มูลความผิด ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ
ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน