“ ทัพภาค 3 สัญจรเมืองปากน้ำโพ..จร้า….. ” โฆษกกองทัพภาคที่ 3 เผย กองทัพภาคที่ 3 ขับเคลื่อนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดและบึงราชนก สานต่อเพื่อสุขประชาชน…..
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พันเอก ดร. รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมทีมช่างภาพ PR ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 สัญจรในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 ตามนโยบายของกองทัพบก โดยมี พลโท ธวัช ศรีสว่าง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นประธาน ณ ห้องประชุม สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีสาระสำคัญ ได้แก่ การปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้, การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าทางการเกษตรผิดกฎหมาย
สำหรับประเด็นที่สำคัญ คือ การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดและบึงราชนก สืบเนื่องจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และ บึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก มีสภาพเสื่อมโทรมจากวัชพืชและตะกอนดินตื้นเขิน ทำให้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือบุกรุกพื้นที่บึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนได้ไม่เต็มศักยภาพ รวมทั้งไม่สามารถบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้รับมอบนโยบายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี/หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปศึกษาสภาพปัญหาทั้งสองบึงพร้อมๆ กัน จนสามารถจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูและพัฒนา โดยเสนอคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 2562 ที่ผ่านมา มีรายละเอียด ดังนี้
1. แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2563 – 2572) วงเงินรวม 5,701.50 ล้านบาท จำนวน 6 ด้าน ได้แก่
1) การบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบ “ให้ หวง ห้าม”
2) การแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำและการเติมน้ำเข้าบึงจากแม่น้ำน่าน
3) การจัดการคุณภาพน้ำ ตะกอน และรักษาระบบนิเวศ เพื่อแก้ปัญหาตะกอนทับถมจากตะกอนดินและวัชพืชที่เสื่อมสลายและทำวังปลา
4) การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดพื้นที่น้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
5) การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ
6) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยพัฒนาสระเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
โดยให้เร่งรัดแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อมไปก่อน เช่น การตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่บึงในพื้นที่ “ให้-หวง-ห้าม”, การขุดลอกคลองตะกอนดิน เมื่อสิ้นสุดโครงการพัฒนาแล้ว จะทำให้มีน้ำในบึงเพิ่มขึ้น จากเดิม 177 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 220 ล้านลูกบาศก์เมตร (ที่ระดับ +24 ม.รทก.) และเมื่อสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมฝายพับได้ (ที่ระดับ +25 ม.รทก.) จะทำให้มีความจุรวมได้ถึง 332 ล้านลูกบาศก์เมตร, การเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 85,000 ไร่ และวัชพืชถูกกำจัดปีละ 100,000 ตัน เป็นต้น
2. แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนก ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (พ.ศ. 2563 – 2569) วงเงินรวม 1,456.98 ล้านบาท จำนวน 4 ด้าน ได้แก่
1) การบริหารจัดการ โดยการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หน่วยงานขออนุญาตไว้เดิม มาดำเนินการจัดระเบียบการใช้ที่ดินใหม่จะทำให้มีพื้นที่ผิวน้ำเพิ่มเป็น 3,714 ไร่
2) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยปรับปรุงทางน้ำเข้าและออก การขุดลอกบึงฯ และกำหนดขอบเขตโดยการยกระดับถนนรอบพื้นที่
3) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร โดยการปรับปรุงขุดลอกคลองและทางน้ำ สร้างฝายเพื่อยกระดับน้ำให้เข้าสู่บึง
4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
โดยเร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อมไปก่อน เช่น แก้ไขปัญหาการบุกรุกครอบครอง และทำประโยชน์ในพื้นที่บึง, ขุดลอกพื้นที่บึงบางส่วน และจะมีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรในดินอย่างเหมาะสม เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำจากเดิม 858.18 ไร่ เป็น 3,714 ไร่เศษ, ปริมาณน้ำเก็บกัก จากเดิม 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตร กลายเป็นมีปริมาณ 28.85 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบรรเทาพื้นที่อุทกภัย ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้ 10,575 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 3,960 ไร่ 22,370 ครัวเรือน
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จะได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การวางแผนที่ร่วมกันคิดผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีการดำเนินการภายใต้เป้าหมายเดียวกันตามกรอบเวลาที่เหมาะสม และทำแบบเป็นลำดับขั้นตอน มีแผนงานโครงการพร้อมทั้งกรอบงบประมาณ เป็นไปตามแนวทางที่ สทนช. ใช้ขับเคลื่อน ให้บรรลุผลจริงจังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ ตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ต่อไป