ข่าวเชียงใหม่ เกษตรกร

เกษตรกรที่จะใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ต้องผ่านอบรมและหรือผ่านการทดสอบ

เกษตรกรที่จะใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ต้องผ่านอบรมและหรือผ่านการทดสอบประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 198,317 ตัน คิดเป็นมูลค่า 27,922 ล้านบาท ซึ่งปริมาณสารเคมีทางการเกษตรจำนวนดังกล่าว เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชถึง 148,979 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,686 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปริมาณการนำเข้าสารเคมีกาจัดวัชพืชในปี 2559 ถึง 23,383 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,998 ล้านบาท และในปี 2561 มีปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรทั้งหมด 170,827 ตัน คิดเป็นมูลค่า 27,982 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช 125,281 ตัน มูลค่า 14,745 ล้านบาท ในแต่ละปี มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะสารพาราควอต และไกลโฟเซต คิดเป็นร้อยละ 60.55 ของสารกำจัดวัชพืช และร้อยละ 44.41 ของสารเคมีทางการเกษตรที่มีการนำเข้า (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร) 

ในปี 2559 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้เสนอข้อมูลการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ประกอบด้วย สารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือ พาราควอตและไกลโฟเซต และสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช 1 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส แต่เกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะลงทุนน้อยกว่าการจ้างแรงงาน ส่วนคลอร์ไพริฟอสใช้กำจัดหนอนเจาะ ลำต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังไม่มีสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในการกำหนดนโยบาย มาตรการและแผนการกำกับดูแลวัตถุอันตราย ได้พิจารณาข้อเสนอในการให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของเกษตรกรแล้ว ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ไม่ยกเลิกการใช้ แต่ให้จำกัดการใช้ สารเคมีทั้ง 3 ชนิด นอกจากนี้ยังให้ศึกษาวิจัย หาวิธีการ และหาสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทนต่อไปในอนาคตด้วย คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ 6 มาตรการ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 โดยประกาศฯ ทั้งฉบับจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562

 

ประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีที่ได้มีการพิจาณาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามประกาศฯ ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้สาร ผู้รับจ้างพ่นสาร พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า/ส่งออก โดยมีหน่วยงานที่ต้องร่วมดำเนินการคือ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และภาคเอกชน โดยเกษตรกรที่จะประสงค์ใช้สารเคมีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในแปลงปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย พืชไร่ ไม้ดอก และไม้ผล ต้องเข้ารับการอบรมถ่ายทอดความรู้ และหรือผ่านการทดสอบวัดผลความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย และต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนการปลูกพืชกับกรมส่งเสริมการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย

นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการอบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่และไม้ดอก ดังนั้นขอประชาสัมพันธ์และแจ้งข่าวให้เกษตรกรที่ประสงค์จะใช้สารเคมี 3 ชนิด เพื่อกำจัดวัชพืชและกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่การปลูกพืชทั้ง 6 ชนิดดังกล่าว ให้รีบติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านโดยด่วน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมนี้ทางสำนักงานฯได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในส่วนภูมิภาค ( war room ) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งร่วมวางแผนการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอทั้งด้านวิชาการและการจัดการ
นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการ ได้แก่
1. กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และอบรมผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและพนักงานเจ้าหน้าที่
2. การยางแห่งประเทศไทย อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา
3.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส เกษตรกรที่จะใช้ต้องผ่านอบรมและหรือผ่านการทดสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพราะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562 นี้ ดังนั้นขอให้เกษตรกรรีบติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านโดยด่วน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

ทรงวุฒิ ทับทอง