18 เมษายน 67 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ณ ห้องตาปี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายนันธวัช เจริณวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ห้วงวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางผ่านระบบ VDO Conference
ซึ่งในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทางน้ำและทางอากาศ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยบูรณาการเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติงานด้านอำนวยการประสานการปฏิบัติ และรายงานผลการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 พร้อมกับตั้งจุดตรวจหลัก รวม 32 จุด ด่านชุมชน/หมู่บ้าน จำนวน 46 จุด และจุดชะลอความเร็ว 10 จุด ซึ่งผลการปฏิบัติงานทั้ง 7 วัน มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นรวม 43 ครั้ง ลดลงจากปีก่อน 17 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 28.33 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ (Admit) รวม 50 ราย ลดลงจากปีก่อน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.03 ผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย เท่ากับปีที่ผ่านมา
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถมอเตอร์ไซด์ รถปิกอัพ/กระบะ พฤติกรรมเสี่ยงและสาเหตุเกิดจากไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีการตัดหน้ากระชั้นชิด และขับรถเร็วเกินกำหนด เกิดบนถนนกรมทางหลวง ทางตรง สภาพถนนแห้ง ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ระหว่างเวลา 15.00-18.00 น. โดยมีหน่วยกู้ชีพพื้นฐานเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล
ขณะที่ข้อเสนอแนะและแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ เห็นควรให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยการขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ/ท้องถิ่น อาทิ การจัดการข้อมูลสถิติ 3 ฐาน/การบังคับใช้กฎหมาย 10 มาตรการ (รสขม.) การสอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต การตายทุกราย กรณีบาดเจ็บ 4 คนขึ้นไป 3.การประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของสหสาขา ศปถ.อำเภอ โดยการนำข้อมูลจากการเฝ้าระวัง และการสอบสวนมาใช้ประโยชน์ผลักดันให้เกิดมาตรการป้องกันเชิงนโยบายในพื้นที่ ให้มีการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการสรุปผลการดำเนินงานและประเมินผลเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิต การบาดเจ็บและจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนให้มีการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ให้กับด่านชุมชนมีความพร้อมเพื่อรองรับการบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน.