กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผนึกกำลังหน่วยงานความมั่นคงประชุมเชิงปฏิบัติการ และการติดตามผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมกันในพื้นที่ชายแดนภาคอีสาน
วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงแรมเวลาดี อุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีพลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2/ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24) และพลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้ พลตรี ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210/รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติทางยุทธการ และสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมกันในพื้นที่ชายแดน ของแต่ละส่วนตามมาตรการ และหารือ ประสานงาน/บูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในห้วงวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้รับเกียรติจาก นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 7 จังหวัด 25 อำเภอชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 159 นาย ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกหน่วยได้รับทราบ บทบาท อำนาจหน้าที่ และแนวทางการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน อันจะส่งผลให้การสกัดกั้นป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
ในด้านสถานการณ์ด้านยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งรัฐบาลได้ออกประกาศเรื่องกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและผู้รับผิดชอบเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่อำเภอชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนใน 7 จังหวัด 25 อำเภอ และมอบให้กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 ขึ้นโดยมี แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ผบ.นบ.ยส.24) พร้อมทั้งได้มอบรางวัลแก่หน่วยที่มีผลตรวจยึด จับกุม ดีเด่นด้านยาเสพติด เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
การจัด หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1) ส่วนบังคับบัญชา มี ผู้บังคับบัญชา และ หัวหน้าส่วนราชการ ของแต่ละหน่วย ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชา และกำกับดูแล การปฏิบัติ 2) ส่วนอำนวยการ มีฝ่ายเสนาธิการ ทำหน้าที่ในการ วางแผน อำนวยการ และประสานการปฏิบัติ3) ส่วนสกัดกั้น มีกองกำลังป้องกันชายแดน เป็นหน่วยงานหลัก 4) ส่วนปราบปรามขยายผล มีตำรวจภูธร และตำรวจปราบปรามยาเสพติด เป็นหน่วยงานหลัก 5) ส่วนป้องกัน มีจังหวัด ในบทบาทศูนย์อำนวยการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดจังหวัด เป็นหน่วยงานหลัก
มีภารกิจในวางแผน บูรณาการ อำนวยการ ประสานงาน ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า-ส่งออก ยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์, ปราบปรามเครือข่ายค้ายาเสพติด, บำบัดผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด, จัดตั้งหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด, ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เพื่อให้พื้นที่รับผิดชอบปลอดจากการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ไม่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหายาเสพติดด้านอื่นๆ ได้รับการแก้ไข ประชาชนเกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินได้อย่างยั่งยืนและได้ยึดถือกรอบแนวทางการปฏิบัติของ ป.ป.ส. ใน 6 มาตรการหลัก คือ มาตรการสกัดกั้น, มาตรการปราบปราม, มาตรการป้องกัน, มาตรการบำบัด, มาตรการบูรณาการ และมาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ในทุกมาตรการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ตามแนวชายแดน เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกับกองกำลังป้องกันชายแดนในการซีลแนวชายแดน ประกอบด้วย กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี กองกำลังสุรนารี และพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนใน 7 จังหวัด 25 อำเภอ มีหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) เป็นหน่วยรับผิดชอบ ในเขตพื้นที่ตอนในดำเนินการ โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัด (กอ.รมน.จังหวัด) ทั้ง 20 จังหวัดบูรณาการกับส่วนราชการในจังหวัด ร่วมกันดำเนินการ ผลจากการดำเนินงานด้านยาเสพติดตั้งแต่ 1 ต.ค.67 – ปัจจุบัน ในพื้นที่รับผิดชอบของ นบ.ยส.24 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 643 คน ตรวจยึดของกลางยาเสพติด ประเภทยาบ้า 75,278,699 เม็ด, ไอซ์2,566.33 กิโลกรัม, เฮโรอีน 123.95 กิโลกรัม เคตามีน 573.87 กิโลกรัม มูลค่า 5,110,325,840 บาท.
นายพรพิพัฒน์ เพ็ชรสังหาร ภาพ/ข่าว