ข่าวรัฐสภา

หมอเจตน์นำคณะลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.

หมอเจตน์นำคณะลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดและการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. โดยมีนายแพทย์วสันต์ กริ่มวิรัตน์กุล รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิ นายสัญชาติ พลมีศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร นางพรพิไล วรรณสัมผัส สาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร และบุคลากรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

จังหวัดยโสธรมี รพ.สต. 112 แห่ง ถ่ายโอนไปยัง อบจ. 48 แห่ง มีเพียง 1 อำเภอ ที่มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปร้อยละ 100 คือ อำเภอกุดชุม ในปี 2567 และปี 2568 ไม่มี รพ.สต. ประสงค์ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ในระยะแรกมีบุคลากรของ รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. จำนวน 327 คน เป็นข้าราชการ 163 คน ลูกจ้าง 1 คน และบุคลากรตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และจ้างเหมา 163 คน ปี 2567
มีบุคลากรขอถ่ายโอน 3 คน ปี 2568 มีบุคลากรประสงค์ถ่ายโอน 8 คน

ปัญหาภายหลังการถ่ายโอน คือ 1) กลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง สสจ. และ อบจ. ยโสธร ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ที่เกิดจากองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีสัดส่วนไม่สมดุลกัน เนื่องจากคณะกรรมการในสัดส่วนของภาคสาธารณสุขมีจำนวนน้อยกว่าภาค อบจ. ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขเกิดปัญหา กลไกคณะกรรมการร่วมในระดับอำเภอยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและไม่มีกฎระเบียบรองรับ รวมทั้งปัญหาบทบาทของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่เปลี่ยนแปลงไปยังขาดความชัดเจน 2) การบริหารแผนงาน/โครงการยังขาดแนวทาง
ที่ชัดเจนในการดำเนินการ ทั้งการบูรณาการแผนงาน/โครงการ การติดตาม ควบคุม กำกับ ประเมินผล
และระบบสารสนเทศ และ 3) การให้บริการ ผู้รับบริการมีแนวโน้มลดลง ภาคกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 5.6 และ อบจ. ร้อยละ 14.9 ผู้รับบริการภาคกระทรวงสาธารณสุขสูงกว่าภาค อบจ. คือ 128 ครั้งต่อเดือนต่อแห่ง และผลงานตามตัวชี้วัดภาคกระทรวงสาธารณสุขสูงกว่าภาค อบจ. ร้อยละ 20.22

โรงพยาบาลยโสธรเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S เตียงบริการ จำนวน 436 เตียง จำนวนเตียง ICU จำนวน 74 เตียง บุคลากรรวม 1,340 คน ประกอบด้วย แพทย์ 64 คน ทันตแพทย์ 18 คน
เภสัชกร 29 คน พยาบาล 398 คน ในพื้นที่อำเภอเมืองยโสธรมี รพ.สต. 21 แห่ง PCU 3 แห่ง และ PCU เอกชน 1 แห่ง ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ทางโรงพยาบาลยโสธรได้เตรียมความพร้อม
ทั้งด้านงบประมาณ ด้านสถานที่ และด้านเวชภัณฑ์ นอกจากนั้น ยังให้การสนับสนุนเวชภัณฑ์ วัสดุการแพทย์ วัคซีน รับส่ง – ต่อ ผู้ป่วยจาก รพ.สต. สนับสนุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและจัดตั้ง PCC/NPCU
ให้คำปรึกษา และจัดทำแผนงาน/โครงการร่วมกับ สสอ. อบจ. รพ.สต. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.สต. สังกัด อบจ. ยโสธร

ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ยังไม่มีความชัดเจนด้านระบบการเงิน การคลัง ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ อาจเกิดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณในการให้บริการผู้ป่วยด้านเป้าหมายและการประเมินผลควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในมาตรฐานบริการปฐมภูมิ ส่วนการสนับสนุนภารกิจบางอย่างยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การส่งแพทย์ออกตรวจไปยัง รพ.สต. ที่ถ่ายโอน เนื่องจากยังไม่มีระเบียบรองรับ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ อาทิ 1) การบริการสุขภาพประชาชน ควรมุ่งเน้นที่การป้องกันมากกว่าการรักษา เนื่องจากประชาชนสูญเสียจากโรค NCDs สูงถึง 400,000 คนต่อปี จึงควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับการลดโรค NCDs โดยลดการรับประทานอาหารหวาน เค็ม มัน ซึ่งก่อให้เกิดโรคดังกล่าว ปัจจุบันมีเครื่องวัดความเค็มที่สามารถตรวจวัดความเค็มของอาหารที่จะรับประทานในแต่ละมื้อได้ ซึ่งควรสนับสนุนให้ประชาชนนำมาใช้ หรือเป็นเครื่องมือสำหรับ อสม. ในการทำงานในพื้นที่/ชุมชน/โรงเรียน และวัดสุขภาพก่อน – หลังโครงการ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจ และให้รางวัลสำหรับผู้ที่มีผลลัพธ์ทางสุขภาพตามเป้าหมาย 2) ควรพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้และทักษะในการตรวจคัดกรองโรคที่ไม่ซับซ้อน เพื่อช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนในพื้นที่ 3) ควรสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริการด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งสามารถลดงบประมาณของโรงพยาบาลในการบริการสุขภาพประชาชนด้านต่าง ๆ ได้ โดยกำหนดมาตรการตอบแทน เช่น มาตรการด้านการลดหย่อนภาษี หรือการประชาสัมพันธ์ และมาตรการอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการให้ความเหลือสังคมทางสุขภาพ 4) วิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ และพยาบาล ปัจจุบันมีภาระงานที่มากขึ้น แต่กรอบอัตรากำลังไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่งผลต่อภาระงานของบุคลากรในทุกพื้นที่ ทั้งด้านการให้บริการสุขภาพและการบันทึกข้อมูลในระบบ ประกอบกับปัจจุบันมีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ อาจส่งผลกระทบต่อภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน