ข่าวรัฐสภา

หมอเจตน์นำคณะกมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.

หมอเจตน์นำคณะกมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดยโสธร ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ.

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 นาฬิกา นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ รพ.สต. บ้านสามเพีย อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อติดตามสถานการณ์การจัดและการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. โดยมีนางเบญจพร โคตรสมบัติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร กำนันตำบลดู่ทุ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ทุ่ง นายรุ่งวิทย์ วิวรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสามเพีย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และบุคลากรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

รพ.สต. บ้านสามเพีย เป็น รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ยโสธร รับผิดชอบประชากรจากการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลดู่ทุ่ง 7 หมู่บ้าน 752 ครัวเรือน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 3,129 คน UC 1,703 คน รพ.สต. บ้านสามเพีย มีบุคลากร 8 คน ซึ่งบุคลากรได้ถ่ายโอนมายัง อบจ. ทั้งหมด ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รพ.สต. 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พนักงานธุรการ 1 คน และพนักงานทั่วไป 2 คน กลุ่มประชากรที่ต้องดูแลพิเศษ คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 194 คน ผู้ป่วยสุขภาพจิต (จิตเวช) 12 คน ผู้ป่วยวัณโรค 4 คน และผู้พิการ 104 คน

รพ.สต.บ้านสามเพียมีกระบวนการขับเคลื่อนงานระบบสุขภาพตำบลร่วมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนไปสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของ รพ.สต. โดยมุ่งเน้น 1) การดำเนินการเชิงรุกมุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชน เพื่อสร้างสุขภาพเป็นหลักและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพ
2) บริการอย่างต่อเนื่องสามารถให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา โดยมีการปรึกษาทีมแพทย์
ในโรงพยาบาลพี่เลี้ยง หากมีกรณีฉุกเฉินให้มีระบบแพทย์ฉุกเฉินออกไปรับผู้ป่วยและให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งต่อ และ 3) เชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพระดับอื่นในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะทิศทาง รพ.สต. เน้นสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อมต้องเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในระดับตำบล

การดำเนินงานภายหลังวันที่ 2 ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลแม่ข่ายยังให้การสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และสนับสนุนแพทย์ออกตรวจคลินิกแต่ในอนาคตการยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้อบจ.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้เองหรือไม่ส่วนการสนับสนุนแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่ายในปี 2567 จะงดการออกตรวจคลินิกของแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล

ปัญหาของ รพ.สต. บ้านสามเพีย อาทิ 1) การขาดแคลนอัตรากำลังในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าหน้าที่ธุรการ เนื่องจาก รพ.สต. บ้านสามเพีย เป็น รพ.สต. ขนาดเล็กจึงไม่มีกรอบอัตรากำลังแพทย์แผนไทย เจ้าพนักงานสาธารณสุข และนักวิชาการสาธารณสุข
(ทันตสาธารณสุข) หรือเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ทั้งนี้ รพ.สต. มีห้องบริการทันตกรรมพร้อมให้บริการ แต่ไม่มีกรอบอัตรากำลังนักวิชาการสาธารณสุข (ทันตสาธารณสุข) 2) ระเบียบเรื่องการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ฉ5 และ ฉ11 ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังไม่มีระเบียบในเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังและข้อบังคับต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขโดยอนุโลม 3) รพ.สต. ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและต่อเติม รพ.สต. ได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ
จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ อาทิ 1) บริการด้านสาธารณสุขควรยึดโยงผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และมีการให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะการลดอาหารหวาน เค็ม มัน ที่เป็นสาเหตุของโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน 2) ปัญหาสุขภาพช่องปากมีความสำคัญต่อสุขภาพองค์รวม
ของประชาชน รพ.สต. ควรให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ โดยให้ความรู้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็ก ครู และเด็ก 3) ปัญหาการกรอกข้อมูลตามตัวชี้วัดของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ที่ส่วนใหญ่กรอกข้อมูลเฉพาะตัวชี้วัดที่ได้รับเงิน เนื่องจากภาระงานที่มากขึ้นส่งผลต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพที่จะนำไปวางแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพในอนาคต

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน