ตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ทำบุญเนื่องงานวันตำรวจ ประจำปี 2566
วันที่ 17 ตุลาคม 2566
ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ พล.ต.ต.สุทธิพงศ์ เป๊กทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรอุตรดิตถ์ เป็นประธานพิธีทำบุญแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป เนื่องในวันตำรวจ ประจำปี 2566 เพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ และได้อ่านสารผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนำกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตน ว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ จะยอมเสียสละทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อระงับทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและยึดศีลธรรม เป็นหลักประจำใจ โดยมีนายอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 35 อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุตรดิตถ์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายบังคับคดีจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงชนบทที่ 9 ผู้อำนวยการแขวงการทางอุตรดิตถ์ ที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุตรดิตถ์(กกต.)ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์ ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ แม่บ้านตำรวจ ชมรมบำเน็จบำนาญข้าราชการตำรวจจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุตรดิตถ์ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมในพิธี
วันตำรวจ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 โดยเป็นวันประกาศรวม “กรมพลตระเวน” กับ “กรมตำรวจภูธร” เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจ” ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธี วันตำรวจ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ประวัติ
กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นาและพร้อมกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา
ทั้งนี้ กิจการตำรวจในขณะนั้น แบ่งออกเป็น ตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจาก ผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้รับความสนใจที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่าง ประเทศตะวันตก โดยในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดย จ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G. Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ
ถัดมาในปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง ในปี พ.ศ. 2440 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งให้ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G. Schau) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ
โดยกิจการตำรวจในยุคนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กระทรวง คือ กรมพลตระเวน หรือ ตำรวจนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงพระนครบาล ส่วนกรมตำรวจภูธรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน และในปลายปีได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจภูธร และกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล จึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร และกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรง เรียกว่า ตำรวจนครบาล ส่วนตำรวจที่ทำการจับกุมผู้ร้ายได้แล้ว ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร
กระทั่งในปี พ.ศ. 2560 พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ถือเอาวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันตำรวจ” ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541 เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ได้ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระองค์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน