เกษตรกร

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มอบกล้าไม้ให้แก่เครือข่ายชุมชน เน้นย้ำการเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน ประชาชนพึ่งตนเองได้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มอบกล้าไม้ให้แก่เครือข่ายชุมชน เน้นย้ำการเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน ประชาชนพึ่งตนเองได้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 เวลา 16.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจและการประเมินมูลค่าไม้มีค่า อาทิ ต้นสักทอง ต้นมะฮอกกานี ต้นประดู่ ต้นมะขาม ต้นประคำดีควาย เป็นต้น ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ เลขที่ 309 หมู่ 7 ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3, นายวรพจน์ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ เกศามูล เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกสวนป่า ระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2556 และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกสร้างสวนป่า ระดับภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2557 ร่วมให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมพื้นที่ภายในบริเวณสวนป่า ชมการสาธิตการวัดเส้นรอบวงต้นไม้ การประเมินราคาไม้มีค่า และการเพาะชำกล้าไม้ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวมของการขยายผลการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และการสร้างความยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยกรมป่าไม้นำเสนอการคัดเลือกพันธุ์ไม้ กล้าไม้ และคัดกรองพื้นที่ในการปลูกไม้มีค่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาสวนป่าไม้มีค่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอการประเมินมูลค่าไม้มีค่าและกลไกการใช้ไม้มีค่าเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ สัก ยางนา ตะเคียน และมะค่าโมง เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนปลูกไม้สวนป่า พร้อมพบปะพูดคุยและมอบนโยบายในโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเกษตรกรไทย” ตอนหนึ่งว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไม้มีค่า อันจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเก็บออม และสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงสนับสนุนการขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มขึ้น มีการเร่งรัดขยายผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลูก และแปรรูป รวมทั้งการส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

สำหรับโครงการชุมชนไม้มีค่า เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยขณะนี้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนและผลักดันอย่างเร่งด่วน อันจะก่อให้เกิดชุมชนไม้มีค่าเพื่อเกษตรกรทั่วประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการขยายผลโครงการเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการปลูก โดยมอบหมายให้ วช. กรมป่าไม้ สพภ. และ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินการ โดย วช. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่าง ๆ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ โดยพัฒนาจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม และ ธ.ก.ส.ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

โดยมีเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี มีผลต่อประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 400 ต้น รวมจำนวน 1,040 ล้านต้น พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10,400 ล้านบาทต่อปี มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ การปลูกไม้มีค่ายังสามารถเป็นเงินออม ทรัพย์สิน หลักทรัพย์ หรือใช้เป็นหลักประกันได้ ทั้งยังช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศในชุมชน ท้องถิ่น ให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติ สร้างอากาศที่ดี รวมทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณต้นไม้และพื้นที่ป่าอันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางไทยนิยมของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในระยะยาว

ขอบคุณภาพจาก สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี