16 สิงหาคม 2567 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และนางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ร่วมในพิธีมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร (จังหวัดที่ 13 ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 23 ครัวเรือน พร้อมมอบรถจักรยานในโครงการ จักรยานเพื่อน้องสัญจร ครั้งที่ 5 จำนวน 100 คัน กระบอกน้ำ จำนวน 500 ใบ ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน จำนวน 10 แห่ง เพื่อให้นักเรียนที่ประสบปัญหาในการเดินทางได้ยืมเรียน รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าพาหนะแก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเสริมสร้างให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เรียนรู้กฎจราจร เรียนรู้การแบ่งปัน และดูแลรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน รวมมูลค่าสิ่งของที่มอบในครั้งนี้เป็นเงิน 711,510 บาท
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้จัดหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมแพทย์อาสาฯ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น บริการตัดผม ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการ ที่ 11 เป็นประธานร่วมในพิธี พร้อมด้วย นายวิโรจน์ น้ำหอม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน คณะมูลนิธิการกุศลมุกดาหาร เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี และอาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายศรสุทธา กลั่นมาลี (ถั่วแระ เชิญยิ้ม) นางสาวพัชรมัย บุญเลิศกุล (แพรว) ร่วมในพิธี รวมทั้ง ประชาชน เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ ณ บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้สนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดงบประมาณดำเนินการเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพมอบให้แก่ครัวเรือนยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยในกลุ่มเป้าหมายแรกดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด รวม 98 ครัวเรือน ต่อมา ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ 17 จังหวัด รวม 230 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะได้พิจารณาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ สกลนคร เลย หนองคาย และ นครพนม