16 พฤษภาคม 2567 ที่ บริเวณลานจุดบั้งไฟตะไลล้าน บ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีชาวบ้านกุดหว้า และหมู่บ้านใกล้เคียงได้รวมตัวกันจัดแข่งขันบั้งไฟตะไลไม้ไผ่ โหมโรงก่อนพิธีเปิดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้านหนึ่งเดียวในโลกวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เพื่อสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยการนำวัสดุจากธรรมชาติด้วยการคัดสรรไม้ไผ่ที่มีความคงทนแข็งแรง มีเนื้อไม้ที่หนาสามารถทนต่อความร้อมจากการเผาไหม้ของดินประสิวหรือดินปืนที่นำมาอัดใส่ในการผลิตเป็นบั้งไฟตะไลไม้ไผ่ ที่เป็นต้นแบบของการผลิตบั้งไฟตะไลล้าน จนทำให้ชื่อเสียงของงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน ที่มีอยู่หนึ่งเดียวในโลก ทำให้บ้านกุดหว้าดังไปทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างก็อยากมาสัมผัสบรรยากาศงานประเพณีท้องถิ่นในช่วงก่อนฤดูฝน เพื่อบูชาพญาแถนตามความเชื่อของคนอีสาน
นายธนพล บุญศรี อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 304 หมู่ 8 ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านกุดหว้าโดยกำเนิดได้เห็น ได้สัมผัสกรรมวิธีการทำบั้งไฟตะไลไม้ไผ่ โดยการคัดสรรไม้ไผ่ที่มีความคงทนแข็งแรงมีเนื้อที่หนาสามารถทนความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ของดินประสิวหรือดินปืน ซึ่งวันนี้มีการจุดบั้งไฟ เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บริเวณฐานจุดบั้งไฟตะไลล้าน เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อให้การจัดงานมีความราบรื่นไม่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการจุดบั้งไฟที่คาดไม่ถึง พร้อมกับมีการแข่งขันบั้งไฟที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อเป็นการอนุรักษ์รักษาภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่ได้คิดค้นวิธีการทำตะไลจนต่อยอดพัฒนาเป็นบั้งไฟตะไลล้าน ตะไลสิบล้านในปัจจุบัน กรรมวิธีการทำคือ นำไม่ไผ่ไปเผาให้ยางไม้ออกจนมีสภาพที่แห้งมีความแข็งแรง จากนั้นได้นำดินประสิวหรือดินปืนอัดแน่นเข้าไป ตนมีความภาคภูมิใจที่ประเพณีบั้งไฟตะไลล้านได้ดังไปทั่วโลก สร้างความสนุกสนานความสามัคคีในชุมชนมีการรวมตัวกันของแต่ละชุมชนทำบั้งไฟขึ้นมา เพื่อขอฝนบอกกล่าวพญาแถนตามความเชื่อของคนอีสาน
ด้าน นายแสวง อุทรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดหว้า กล่าวว่า นี่คือบั้งไฟที่ทำจากไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็กด้วยการนำวัสดุธรรมชาติมาผลิตเป็นบั้งไฟเพื่อรักษาภูมิปัญญาของท้องถิ่น ทางเทศบาลตำบลกุดหว้าเองเราได้เห็นความสำคัญของการสืบสานการผลิตบั้งไฟที่ทำจากไม้ไผ่รักษาไว้ให้เยาวชนได้เห็นว่าก่อนที่จะมีบั้งไฟตะไลล้านในยุคปัจจุบันนี้เราเคยได้ผลิตหรือทำบั้งไฟจากอะไรมาก่อน โดยการคิดค้นของคนในท้องถิ่นต่อยอดพัฒนาให้ใหญ่ยิ่งขึ้นมีความยาวมากขึ้น วัสดุที่เคยทำจากไม่ไผ่ไม่มีความคงทนแข็งแรงไม่อาจต้านทานความร้อนจากดินประสิวที่มีจำนวนปริมาณที่มากได้จึงได้พัฒนาเป็นท่อพาสติกหรือท่อเหล็ก เวลาที่อัดบรรจุดินประสิวเข้าไปแล้วทำให้ทนทานความร้อนได้ดี ซึ่งปีนี้งานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้านเราได้จัดเตรียมงานไว้อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 15 – 19 พฤษภาคม 2567 เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมความเป็นอัตลักษณ์ชองชาติพันธุ์ผู้ไท ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งจะมีพิธีเปิดวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 นี้ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านเข้ามาสัมผัสงานบั้งไฟตะไลล้านที่มีอยู่หนึ่งเดียวในโลกและเพื่อรักษาประเพณีอีสานคือการจุดบั้งไฟขอฝนบูชาพญาแถนสืบสานประเพณีของคนไทยอีสานร่วมกันต่อไป