กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 3 กำหนดจัดพิธีเนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2562 ในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562
วันกองทัพไทย……
การกำหนดวันกองทัพไทยและวันกองทัพบกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2502 รัฐบาลในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นวันระลึกถึงวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหมและถือเป็นวันที่มีการปรับปรุงการทหารจากการจัดอัตรากำลังแบบโบราณมาเป็นการจัดอัตรากำลังแบบปัจจุบันเป็นวันกองทัพไทย
เมื่อ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ-
กระทรวงกลาโหม ใน พ.ศ.2523 ได้ดำริว่า วันกองทัพไทยควรเป็นวันที่มีความสำคัญและมีความหมายยิ่งสำหรับทหารทั้งสามเหล่าทัพ พึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ปลุกใจให้เกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมืองและพร้อมที่สละชีวิตและเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ทหาร ทั้งเป็นที่ชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทยอีกด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้ วันที่ 25 มกราคม ซึ่งตรงกับวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2524
ในส่วนของกองทัพบก เดิมกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่กองทัพไทยฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสโดยกระทำพิธีสวนสนามรับมอบดินแดนในอินโดจีนที่ จังหวัดพระ-ตะบอง เป็นวันกองทัพบกตั้งแต่ พ.ศ.2485 ต่อมาใน พ.ศ.2494 กองทัพบกได้เสนอขอวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำ ยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีเป็นวันกองทัพบก ซึ่งผลคำนวณในขณะนั้นตรงกับวันที่ 25 มกราคมพ.ศ.2135 เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น นับเป็นการยุทธ์ทางบกครั้งยิ่งใหญ่ ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้รับการกล่าวขวัญและสรรเสริญโดยทั่วไป วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย เป็นวันที่คนไทยพึงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความภาคภูมิใจ สำนักนายกรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็น วันกองทัพบก
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถาน และคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไป ดังนั้น เพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมในการกำหนดวันที่ระลึกกองทัพไทย และกองทัพบก รวมทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก จึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทย และวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีโดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นไป
ประวัติธงชัยเฉลิมพล
ถือได้ว่าเป็นยอดสำคัญสำหรับทหารทั้งปวง เป็นหมายแห่งชัยชนะรวมใจกล้าหาญก่อนการออกศึก ซึ่งธงชัยเฉลิมพลนั้น เดิมเรียกว่า “ธงประจำทัพ” ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับทหารทุกนายเพราะถือว่าเป็นตัวแทน จอมทัพ และเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารทั้งปวงเมื่อธงนี้โบกสะบัดอยู่ ณ ที่ใดย่อมหมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น จำเป็นที่ทหารทั้งหลายจะต้องติดตามธงนั้นจนถึงที่สุด และต้องคุ้มครองป้องกันธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยชีวิตตนเอง เพราะถ้าธงตกถึงเงื้อมมือศัตรูย่อมหมายถึงการสูญสิ้นซึ่งจอมจตุรงค์
ธงชัยเฉลิมพลจะมีลักษณะคล้ายธงชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้ทรงประกอบพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง ดังนั้น การเชิญธงชัยเฉลิมพลออกจากหน่วยและเข้าร่วมพิธีการใดก็ตามจะต้องกระทำอย่างสมเกียรติมีขั้นตอนที่สมบูรณ์ที่สุด และผู้ถือธงจะต้องได้รับการเลือกสรรอย่างดี หากเปรียบในสมัยโบราณผู้ที่จะต้องนำธงชัยเฉลิมพลออกร่วมทำการรบ พลประจำธงจะต้องเป็นผู้ที่แข็งแรง มีความสามารถ และต้องรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ได้ ด้วยชีวิต