เยี่ยมเฮื้อนเมืองพะเยา…..โฆษกกองทัพภาคที่ 3 เผย แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งการ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ เฝ้าระวังโรคคางทูม…..
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 พันเอก ดร. รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมทีมช่างภาพ PR ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 …แอ่วหาเปื่อนสื่อมวลชนเมืองพญางำเมือง พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี นักศึกษาวิชาทหารมณฑลทหารบกที่ 34 ร่วมกิจกรรมด้วย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 ตามนโยบายของกองทัพบก ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีสาระสำคัญ ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 , การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าทางการเกษตรผิดกฎหมาย ,การจับกุมยาเสพติด ,การปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ , โครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ (เกษตรอินทรีย์) กองทัพภาคที่ 3
ประเด็นสำคัญ ..การเฝ้าระวังโรคคางทูม จากข้อมูลในการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคคางทูม ในประเทศไทย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 กรกฎาคม 2562) พบผู้ป่วยโรคคางทูมแล้ว 1,466 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี และพบมากในกลุ่มนักเรียน ร้อยละ 39.6 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดลำพูน, จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย อาการของโรคเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีอาการเจ็บบริเวณหน้าหูและขากรรไกร และมีต่อมน้ำลายข้างกกหูโตขึ้น มีอาการเจ็บบริเวณแก้มและหู การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ควรมีการแยกผู้ป่วยประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มมีต่อมน้ำลายโต และควรหยุดไปโรงเรียนหรือหยุดงานเพื่อป้องการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งคาดว่าในช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อนได้ โดยเฉพาะในสถานที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ต่ำ ในห้วงที่ผ่านมา พบรายงานการระบาดของโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 2 แหล่งที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ในค่ายทหาร และในสถาบันการศึกษา
ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเป็นรูปแบบวัคซีน รวมป้องกันโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมัน โดยในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรค 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน หากมีอาการบ่งชี้ของโรคใกล้เคียงกับลักษณะดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยด่วน