กรมสุขภาพจิตมอบรถเข็นมาตรฐานองค์กรอนามัยโลก” เพิ่มความสุขให้คนพิการ
กรมสุขภาพจิตร่วมมือศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รวม 164 รายการ ให้แก่คนพิการใน จ.นราธิวาส ประกอบด้วยรถเข็นนั่งที่ปรับขนาดให้พอดีตามมาตรฐานองค์กรอนามัยโลก 39 คันและอุปกรณ์การแพทย์อีก 125 รายการ อาทิ อุปกรณ์ฝึกยืน มูลค่า 1.6 ล้านกว่าบาทเพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตดี เข้าถึงการบริการต่างๆ ดีขึ้น
ที่โรงแรมอิมพิเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 Prof.Madya Dr. MohamadSaat Ismail PenasihatProjekมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ให้แก่คนพิการในจังหวัดนราธิวาส รวมจำนวน 164 รายการ ประกอบด้วยรถเข็นนั่ง 39 คัน อุปกรณ์กรแพทย์ 125 รายการ อาทิ อุปกรณ์ฝึกยืนเครื่องช่วยพยุงเดินสำหรับช่วยเด็กพิการทางสมองและคนพิการทางการเคลื่อนไหว เช่น แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกายใจ สังคมเศรษฐกิจ มีคุณภาพชีวิตดี เข้าถึงบริการต่างๆ ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยเหลือลดภาระผู้ดูแล โดยอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดได้รับบริจาคมาจากองค์กรการกุศลจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา มูลค่ารวม 1.6 ล้านกว่าบาท
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า คนพิการที่ได้รับมอบรถเข็นนั่งในวันนี้ อยู่ในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ เมืองเจาะไอร้อง เมืองแว้ง จะแนะ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ สุไหงโกลก สุไหงปาดี สุคิริน มีทั้งหมด 38 คน ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ จำนวน 17 คน ส่วนใหญ่พิการจากโรคทางสมอง (Cerebral palsy) ซึ่งทำการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะบกพร่อง ผิดปกติ เช่น ขาลีบ แขนขาเกร็ง ที่เหลือเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โดยมีทีมอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการจัดทำรถเข็นนั่งคนพิการโดยเฉพาะ จะดำเนินการตรวจประเมินสภาพความพิการรายบุคคล และดัดแปลงแก้ไขรถเข็นนั่งให้มีขนาดพอดีเป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก เพื่อให้ใช้ได้อย่างสะดวกสบาย มีความปลอดภัยที่สุด ลดความเสี่ยงเกิดแผล กดทับที่มักจะเกิดที่บริเวณปุ่มกระดูกสะโพก กระดูดก้นกบ ซึ่งทีมอาสาฯ จะฝึกสอนด้านการใช้งานทั้งผู้ใช้และผู้ดูแลให้ด้วย โดยเฉพาะการเคลื่อนผ่านพื้นที่ที่เป็นอุปสรรค เช่น ลาดชันมีหลุดขรุขระ เป็นต้น
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า โดยทั่วไปกลุ่มคนที่มีความพิการ จะมีความสุขน้อยกว่าประชาชนปกติทั่วไป เนื่องจากวามยากลำบากในเรื่องสุขภาพ ความบกพร่องที่เกิดความพิการ การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ลดลง ผลการสำรวจความสุขครั้งล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั่วไปปะเทศ ซึ่งมีค่าคะแนนเต็ม 45 คะแนน พบว่าในผู้พิการมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 คะแนน คนทั่วไปที่ไม่พิการมีค่าคะแนนเฉลี่ย 34.06 คะแนน จึงมั่นใจว่าหากผู้พิการได้รับความช่วยเหลือในด้านเครื่องอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เพื่อตอบสนองและส่งเสริมความสามารถในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น จะช่วยสร้างความสุขให้ผู้พิการตามไปด้วย
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส
0936193807