18-21 กุมภาพันธ์นี้ ชวนตื่นเช้าชมพาเหรดดาวคราะห์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ มาพร้อมดวงจันทร์ เรียงกันช่วงเช้ามืด
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยช่วงเช้ามืด 18-21 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ดาวอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ เคียงดวงจันทร์ ปรากฏเรียงกัน มีทางช้างเผือกพาดผ่านเป็นพื้นหลัง เหนือฟากฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นโอกาสดีที่จะสังเกตเห็นดาวเคราะห์ 3 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ ปรากฏเรียงเป็นแนวบนท้องฟ้าตามแนวเส้นสุริยวิถี และมีแนวทางช้างเผือกพาดผ่านสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สวยงาม สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของไทย หากใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจตื่นแต่เช้ามาชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าก่อนรุ่งสาง ช่วงวันดังกล่าว
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะปรากฏอยู่เหนือสุด เป็นดวงจันทร์เสี้ยว ข้างแรม 9 ค่ำ ถัดลงมาเป็นดาวอังคาร ห่างกันประมาณ 7 องศา และดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ตามลำดับ เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03:10 น. จนถึงรุ่งเช้า และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาปรากฏอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ส่วนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาอยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ในวันนี้ดวงจันทร์จะปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างเพียง 2 องศา สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04:20 น. จนถึงรุ่งเช้า และสำหรับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาอยู่ล่างสุด ปรากฏใกล้ดาวเสาร์ ห่างประมาณ 5.3 องศา สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05:00น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู
ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ปรากฏบนฟากฟ้าพร้อมกัน และเรียงเป็นแนวเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก ส่วนมุมมองจากอวกาศจะพบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างโคจรกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313.
ทรงวุฒิ ทับทอง