วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ ห้องประชุม Blue Box โรงแรมบลูแรบบิท ถ.รักศักดิ์ชมูล ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดสัมมนาในหัวข้อ”คดีภัยออนไลน์” โดยมีทางด้านนางสาวธนิสสรา ลิ้นสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานด้านกฏระเบียบ เป็นผู้กล่าวรายงาน นายสราวุธ ไกรลาศศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องการพิจารณาคดีและการรวบรวมพยานหลักฐานอิเล็กโทรนิกส์ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ต.ต.วีรพงษ์ แนวคำดี สารวัตรกลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บรรยายเรื่องกรณี “ศึกษาคดีภัยออนไลน์” และ “การระวังภัยด้านธุรกรรมออนไลน์”
โดยมี หลักการและเหตุผลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นกฎหมายกำหนด หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับ การควบคุมการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ หากผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นี้ ก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่ พ.ร.บ. กำหนดไว้ ซึ่งในสภาวะปัจจุบัน มีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก
โดยในปี พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน มีจำนวนคดีออนไลน์ ที่
ต้องการให้กระทรวงดิจิทัลฯ ตรวจสอบ จำนวน 32,000 เรื่อง เช่น การหลอกลวง การปลอมแปลง การโพสต์กลั่นแกล้ง การโพสต์ข้อความเพื่อเกิดความวุ่นวายในสังคม (Fake News) การขายของที่ผิดกฎหมายในโลกออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ สื่อลามก อนาจาร การสร้างแอปพลิเคชันปลอมเพื่อหลอกลวง โดยเฉพาะการหมิ่นสถาบัน จนทำให้เกิดความแตกแยก และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงแนวทางการป้องกันภัยออนไลน์ และเพิ่มความปลอดภัยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่กระทำผิดต่อกฎหมายบนโลกออนไลน์ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเห็นควรให้มีการจัดสัมมนาขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อันจะทำให้เกิดแนวทางการป้องกันและรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น
โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ เผยแพร่องค์ความรู้แนวทางการป้องกันระวังคดีภัยออนไลน์สำหรับประชาชน ทั่วไป ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เครือข่ายเฝ้าระวังภัยออนไลน์ภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ทั้งในรูปแบบ onsite และในรูปแบบ online จำนวน 250 คน