(15 พ.ย.66) เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมสาเกตฮอลล์ 2 อำเภอเมืองร้อยเอ็ด นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานพิเธีเปิดการประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูแนะแนวและบุคลากรทางการศึกษา จากโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 284 แห่ง เข้าร่วมประชุม
โดยการประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ขั้นตอน ปฏิทินการดำเนินงานโครงการ ฯ โดยวิทยากรจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ฯ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 39 ร้อยเอ็ด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในสภาพการณ์ปัจจุบัน มีนักเรียนจำนวนมากที่เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากภาวะขัดสนของครอบครัว และเมื่อไปประกอบอาชีพก็ไม่สามารถประกอบอาชีพที่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากไม่มีทักษะการทำงานที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังนั้น นักเรียนไม่ว่าจะยังอยู่ในระบบการศึกษา หรือไม่ได้เรียนต่อ จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งโรงเรียนและครูมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่นักเรียน ที่ต้องให้ข้อมูลคำปรึกษา ชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียน เพื่ออนาคตในการดำเนินชีวิต
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2567 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 39 ร้อยเอ็ด ได้รับเป้าหมายในการฝึกอาชีพตามโครงการฯ จำนวน 10 คน โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมด้านอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย ใน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม
โดยเป็นการฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 39 ร้อยเอ็ด ระยะเวลา 2 เดือน และฝึกในสถานประกอบกิจการ 1 เดือน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 39 ร้อยเอ็ด รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรการอบรม พร้อมมีสถานประกอบกิจการรองรับหลังจบหลักสูตรการอบรมด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ให้มีทักษะด้านอาชีพในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในฐานะ “แรงงานฝีมือ” เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป
สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0885730542-ข่าว