ม.แม่โจ้ เปิดตัว Magrow Holding Company ร่วมทุนบริษัทเอกชนพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สอดคล้องกับย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรม Grand Opening Magrow Holding Company สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บรรยายพิเศษ University Holding company: How and Future of Innovation Driver
รวมถึงจัดให้มีกิจกรรม Magrow Talks ร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ University Holding Company นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้, รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ สัมฤทธิ์สกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรม ได้แก่
คุณราเมศวร์ ศิลปพรหม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CU Enterprise จำกัด, คุณธนารักษ์ พงษ์เภษตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ อดีตทีมเศรษฐกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Board member of National Innovation Agency (NIA) พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ถามตอบ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้
สำหรับ University Holding Company (UHC) ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และ จดทะเบียนจัดตั้ง ในชื่อ MAGROW Holding เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุน ตลอดจนขับเคลื่อนผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและประเทศ โดยปัจจุบันมีบริษัทลูกภายใต้มหาวิทยาลัยจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท เฟิร์สท์ ออร์แกนิค ซีดส์ จำกัด และ บริษัท อนิ โปรดัก จำกัด โดยมหาวิทยาลัยได้มุ่งหวังว่าในอนาคตจะ เร่งสร้างนวัตกรรม เร่งการใช้และผลิตเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร รวมคนที่มีความฝันแบบเดียวกัน
เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อยอดไปเป็นธุรกิจ และสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพและ SMEs ที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมาให้ได้
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้จัดตั้ง UHC ขึ้นมาได้สำเร็จ คือความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ การมีระเบียบสำนักนายกฯ การมีตัวอย่างจาก UHC อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและแบ่งปันข้อมูลมีความพร้อมของระบบนิเวศนวัตกรรม มีนักวิจัยกลุ่ม frontier และที่สำคัญคือความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการจัดตั้ง UHC และมองถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก.
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจาก นักวิชาการ นักวิจัย ภาคเอกชน เข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 200 คน ณ ห้องอาคม กาญจนประโชติ ชั้น 4 อาคารอำนวย ยศสุข มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่.