CAMT เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล
ใช้ “Leisure Lanna Super App”ขยายผลเชื่อม TagThai-โลจิสติกส์ท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล พัฒนาแอพพลิเคชั่น ภายใต้แนวคิด PLAY TRAVEL and EARN โดยใช้ “Leisure Lanna Super App” ต่อยอดเชื่อม TAGTHAi (ทักทาย) ด้วยแนวคิดจากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนร่วมมือ แอพพลิเคชั่น GOGO และ Hop and Go ของกรีนบัส โลจิสติกส์ท้องถิ่นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา เตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชน ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) กล่าวว่า แผนการวิจัยการประยุกต์ใช้ทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน ได้รับงบสนับสนุนของ สกสว. หน่วย บริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข) เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “Play TRAVEL EARN” และโดยใช้ “Leisure Lanna Super App” เพื่อ สนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พัก หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา
โดยเปิดพื้นที่กลางให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างข้อมูลและเส้นทางการท่องเที่ยว อัตลักษณ์และสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์ม และโครงการได้ร่วมมือกับ TAGTHAi (ทักทาย) คือแพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในทุกมิติ ตั้งแต่การให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การช่วยวางแผนการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงไปยังระบบการจองที่พัก และตั๋วเครื่องบิน และแบรนด์โลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคเหนือ และในอนาคนจะได้ออกแบบ พัฒนาหลักสูตร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ Generative AI มาใช้กับการสร้างคอนเทนท์และ Character สินค้าชุมชน เป็นรูปแบบการต่อยอดการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มาใช้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
นอกจากนั้นยังร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในสองระดับคือ ในเขตเมืองเชียงใหม่คือการสร้างความร่วมมือกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เช่น Sharing bike เช่น GOGO และผู้ให้บริการท่องเที่ยวด้วยพาหนะขนาดเล็กเช่น E- Tuk Tuk ของ LoMo ขณะที่เชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมต่อในและนอกเมืองเชียงใหม่ รวมถึงกับจังหวัดโดยรอบผ่านเครือข่ายการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะภาคเหนือบริษัท Green Bus เป็นต้น ทั้งนี้หากสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะและเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กในเมือง เพื่อมุ่งสู่การสร้าง “Net Zero” ทางการท่องเที่ยว
อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ กล่าวว่าในกิจกรรมเปิดตัวฯ ยังได้จัดรับเกียรติจากผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข./ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. มาบรรยายแนะนำแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. รวมถึงวิทยากรจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ แอพพลิเคชั่น TagThai แอพพลิเคชั่น GOGO และ CAMT ร่วมเสวนาแนวทางการใช้ประโยชน์ แอพลิเคชั่นท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและ Soft Power ล้านนา รวมถึงการจัดกิจกรรมโปรโมทกางเกงช้างคุณภาพสูงเชียงใหม่ โดยการถ่ายภาพนักศึกษาจีนจำนวน 30 รายร่วมกับกางเกงช้างเพื่อโปรโมทผ่าน Social Network ของชาวจีนให้รู้จักโดยมีแบรนด์กางเกงช้างเชียงใหม่สามบริษัทคือ 1) Thai Global Sourcing 2) Lofbaz Company Limited & Dalla Brand และ 3) Lanna Clothes Design เข้าร่วมสนับสนุนในกิจกรรม
ทั้งนี้งานวิจัยแผนงาน “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” เป็นแอพพลิเคชั่น แนวคิด PLAY TRAVEL and EARN ออกเป็นสามแอพพลิเคชั่น ได้แก่
แอพพลิเคชั่น “โลกเสมือนสามมิติสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ เขตเมืองเก่าเชียงใหม่” ซึ่งจัดเก็บข้อมูลกับนักท่องเที่ยว เพื่อระบุกิจกรรมเชิงพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ นำมาพัฒนาและทดสอบระบบความจริงเสมือนและดิจิทัลเกมอย่างง่าย เก็บข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา ในพื้นที่คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา ออกแบบรูปแบบการใช้งานแอปพลิชันเกมอย่าง่ายและระบบตัวตนเสมือนจริง วิเคราะห์และออกแบบโลกเสมือนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา และสร้างกราฟิกสามมิติของโลกเสมือน และสร้างระบบของโลกเสมือน
แอพพลิเคชั่น “สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงความศรัทธาด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง” ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีเทคโนโลยี AR เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างความแตกต่างและมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเชิงความเชื่อและความศรัทธา เช่น เส้นทางแห่งความรัก และเส้นทางเสริมบารมี เมื่อผู้ใช้งานอยู่บริเวณโบราณสถานและมองผ่านกล้องดิจิทัล ระบบจะทำการแสดงฟังก์ชันแสดงผลโลกเสมือนจริงให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว และกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางมายังสถานที่จริง
แอพพลิเคชั่น “เส้นทางเดินชมเมือง (Chiang Mai Old Town Trail) ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเทคโนโลยี AR ผ่านมุมมอง 360 องศา รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวกายภาพ” ภายใต้ชื่อ Lanna Passport มุ่งหวังให้ใช้เป็นเครื่องมือเสริมประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิด Gamification การล่าเหรียญสมบัติในเมืองเก่า ใช้เทคโนโลยี AR ร่วมกับ AI Image recognition นำเสนอเรื่องราวได้ 3 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย (Wellness) ผ่านการ เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อคำนวณเป็นเหรียญรางวัลสำหรับกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ระบบที่ใช้เทคโนโลยี AR ได้นำเสนอเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในมุมมอง 360 องศาผ่านสายตาผู้ใช้งานในช่วงเวลาต่าง ๆ พร้อมกับการนำเสนอภูมิทัศน์เสียง หรือดนตรีที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา จากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
สำหรับแอพพลิเคชั่น “Leisure Lanna Super App” นอกเหนือจากเป็นแอพฯ หลักสำหรับเป็น Platform กลางสำหรับแอพพลิเคชั่นทั้งสามที่พัฒนาขึ้น ร่วมกับการเป็นพื้นที่นำเสนอข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวร้านค้าที่เข้าร่วมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อต่อยอดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมสมทบงบประมาณในการพัฒนา “Super App” มอบส่วนลดให้กับผู้เล่นได้รับเหรียญรางวัลสะสมจากการพิชิตกิจกรรมที่กำหนดในแต่ละแอพพลิเคชั่น สามารถนำมาใช้เพื่อแลกเป็นส่วนลดเพื่อใช้บริการได้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับแอพพลิเคชั่นอื่นที่อยู่ในรูปแบบสนับสนุนการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวชุมชน.