ข่าวรัฐสภา

คณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร

คณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร ติดตามการขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัย ระบบเตรียมความพร้อมระบบข้อมูลสุขภาพ และการถ่ายโอนภารกิจ รพสต. ไปยัง อบจ.

วันที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 08.00-12.00 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลพิจิตร นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในประเด็นการบูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณด้านเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล/หมู่บ้าน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบข้อมูลสุขภาพ (Digital Health) ตลอดจนสถานการณ์การจัดและให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตรภายหลังการถ่ายโอน รพสต. ไปยัง อบจ. โดยมีสาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 3 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ผู้อำนวยการกองแผนงานและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นข้างต้น

สำหรับการขับเคลื่อนและดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 3 และจังหวัดพิจิตร รวมทั้งโรงพยาบาลพิจิตร มีการดำเนินการเพื่อเตรียมแผนในการรองรับการขับเคลื่อนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยที่มาผ่านมามีการจัดทำระบบข้อมูลสุขภาพ (Digital Health) ที่เชื่อมโยงกับระบบของกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีการนำส่งข้อมูลเข้าระบบอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ รวมทั้งมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และบุคลากร สำหรับการขับเคลื่อนด้านเด็กปฐมวัย ภายใต้แนวคิด “พิจิตรโมเดล” มีการพัฒนาการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องเด็กปฐมวัย โดยใช้พื้นที่พิจิตรในการนำร่องการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลเด็กปฐมวัยในทุกมิติ และทุกหน่วยงานโดยเฉพาะพื้นที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวิเคราะห์ วางแผนแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะโดยสรุปว่า การขับเคลื่อนพิจิตรโมเดลมีความก้าวหน้ามากในระยะเวลา 2 ปี หากสามารถทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้เช่นนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการบูรณาการงบประมาณยังไม่เกิดขึ้นจริงทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ แต่ขณะนี้มีโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินงานระดับพื้นที่ภายใต้การขับเคลื่อนของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจังหวัดพิจิตรควรมีการขยายผลและแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ โดยอาจเป็นตัวอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวไปสู่ระดับนโยบาย นอกจากนี้ การขับเคลื่อนด้าน Digital Health ประเด็นสำคัญ คือ การสร้าง digital health literacy ให้แก่ประชุม เพื่อให้ประชาชนมีกระบวนการตัดสินใจด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเอง ซึ่งประชาชนบางส่วนยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงพอ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน