ข่าวรัฐสภา

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเยี่ยมชม Thai Pavillion ในระหว่างการประชุม COP28 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเยี่ยมชม Thai Pavillion ในระหว่างการประชุม COP28 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (Parliamentary Meeting at the 28th Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP28) ณ Expo City Dubai, เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา และนางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ได้เข้าเยี่ยมชมซุ้มนิทรรศการของประเทศไทย (Thai Pavilion) ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการในห้วงการประชุม COP28 ของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเวทีการเจรจาหารือของผู้นำภาครัฐบาลในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกให้สอดคล้องต่อพันธกรณีของข้อตกลงปารีส ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน –11 ธันวาคม 2566
.
ในการนี้ ดร. จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเยี่ยมชมซุ้มนิทรรศการของประเทศไทยที่จัดแสดงในโอกาสการประชุม COP28 ซึ่งประกอบด้วย 1) ภาพแสดงแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution (NDC) Roadmap on Mitigation 2021 – 2030)

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573 หรือเทียบเท่าประมาณ 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การจัดเวทีสำหรับกิจกรรมสานเสวนาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นในระดับนานาชาติ และ 3) การแสดงผลิตภัณฑ์ของภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการริเริ่มและพัฒนาสินค้าที่ใช้นวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Innovation Zone) เป็นต้น
.
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานถึงสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ตอบสนองต่อการพัฒนาสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยังขาดปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ การออกมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทบต่อการพัฒนาหลายภาคส่วน การจัดสรรเงินทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (R&D) มาตรการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและเปลี่ยนผ่านระบบการจัดการภายในของตน การบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความตระหนักรู้ของภาคประชาชนโดยรวม จึงจะสามารถนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน