14 พฤศจิกายน 2567 ที่ บริเวณแปลงนาสาธิต หลังที่ว่าการอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด นำส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน จิตอาสา จำนวน 40 คน ลงมือเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นการเกี่ยวมือตามวิถีชาวนาอีสานดั้งเดิม และเป็นการร่วมกันลงแรงเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียวในรูปแบบ “ลงแขก” ที่ปัจจุบันเริ่มสูญหายไป เนื่องจากไปนิยมจ้างรถเกี่ยวข้าวที่สะดวกและรวดเร็วกว่า
นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด กล่าวว่า ตามที่พฤติกรรมการทำนาของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรชาวนา ในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หรือทั่วไปในภาคอีสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานสัตว์เลี้ยงและแรงงานคน ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสะดวกสบายและง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันกลับเป็นสาเหตุของการเพิ่มทุนการผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น หากคำนวณผลผลิต รายรับกับรายจ่ายที่ลงทุนไปไม่คุ้มทุน
นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทำนาหลายขั้นตอน ตั้งแต่ไถดะ ไถพรวน คราด ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำมัน ค่าแรง ค่าปุ๋ยบำรุง นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ยต่อไร่ 3-4 พันบาท ขณะที่ราคาจำหน่ายผลผลิตข้างเปลือกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ก.ก.ละ 7-9 บาท หรือไม่เกิน 11 บาท ตามที่ทราบกันดี จึงได้มองหาวิธีที่จะช่วยชาวนาประหยัดทุน จึงใช้พื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นแปลงสาธิต ทำนาดำ ที่ได้ผลผลิตมากกว่านาหว่าน ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอก แรงงานก็อาศัยข้าราชการ อส.ที่เป็นชาวนาอยู่แล้ว ช่วยกันทำ ปีนี้เป็นปีที่ 2 ปีแรกได้ผลผลิตไม่สูงนัก ประมาณ 700 ก.ก. เพราะดินขาดสารอาหาร ต้องบำรุงกันใหม่
“ที่ผ่านมาก็พยายามรณรงค์ชาวนา ได้ทำนาอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยจากมูลสัตว์ เพื่อประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันในส่วนของการเก็บเกี่ยว ก็รณรงค์ให้ใช้แรงงาน หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าการลงแขก เพื่อประหยัดค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ที่ปัจจุบันตกไร่ละ 600-700 บาท ตามระยะทางและความยากง่าย ซึ่งผลดีของการลงแขกหรือเกี่ยวมือ คือสร้างความรักความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะและองค์กร เป็นการสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ป้องกันพันธุ์ข้าวปลอมปน เมล็ดข้าวได้ผึ่งแดดจนแห้ง เพื่อที่จะได้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ หากนำไปจำหน่ายก็จะได้ราคาดี ไม่ถูกแหล่งรับซื้อกดราคา หักค่าความชื้น หรือหักสิ่งเจือปน และยังเป็นการคัดพันธุ์ข้าวไปในตัว เพื่อนำไปเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป โดยตั้งชื่อให้ว่า “พันธุ์ข้าวบ้านยาง” ซึ่งผู้นำชุมชน เกษตรกรชาวนาที่มาร่วมกิจกรรม ไม่ต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวที่มีราคาสูงอีกด้วย” นายเอกรัตน์กล่าว
นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น ผึ่งฟ่อนข้าวไว้ประมาณ 3 แดดก็เก็บกู้ มัดเป็นฟ่อน รวบรวมไปขึ้นลาน จากนั้นร่วมกันลงแขกตีข้าว สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ จัดสรรเป็น 2 ส่วนคือ เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์และนำไปสีเป็นข้าวสาร บรรจุถุงมอบให้ครัวเรือนเปราะบาง หรือผู้ประสบสาธารณภัยในพื้นที่ อ.ยางตลาด ต่อไป