กมธ.วิ. พิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา วางพวงมาลาเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เวลา 09.59 นาฬิกา ณ บริเวณเบื้องหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หน้าอาคารหอจดหมายเหตุทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ร่วมกับนางสมทรง พันธุ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้บริหารวังช้างแลเพนียดอยุธยา สภาเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มสภาสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน สมาคมกีฬามวยไทยนายขนมต้ม และพนสกนิกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วางพวงมาลาเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในการนี้ อาจารย์สกัด เพชรยินดี ครูผู้ฝึกสอนมวยไทยสมาคมกีฬามวยไทยนายขนมต้ม ร่วมแสดงศิลปะการรำไหว้ครูมวยไทย เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสนี้ด้วย
ทั้งนี้ ทุ่งมะขามหย่อง เป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจและมีความสำคัญต่อพสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอันมาก ทุ่งมะขามหย่องเป็นผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 ณ พระราชวังไกลกังวล ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างโครงการพระราชานุสาวรีย์ฯ โดยพระราชทานพระบรมราโชบายให้ใช้พื้นที่สวนสาธารณะเป็นพื้นที่สระน้ำเพื่อใช้กักเก็บน้ำให้ได้ปริมาณมากที่สุด เพื่อนำไปประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของราษฎรที่มีพื้นที่อยู่รอบบริเวณพระราชานุสาวรีย์ฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2538 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ของพระราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม
และเพื่อเป็นการเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกทางหนึ่งด้วยและนำน้ำที่ได้เก็บกักไว้ในสระ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริด้านการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งโดยส่งเสริมอาชีพเสริมแก่ราษฎร 4 โครงการ คือโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง โครงการปลูกพืชอายุสั้นและไม้ผล โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาและโครงการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน และต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 ทรงพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาปรับปรุงบริเวณพื้นที่โครงการให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นเป็น 200 ไร่ เหลือเป็นพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ไว้เพียง 50 ไร่ และยกระดับถนนในพื้นที่ให้สูงขึ้นเพื่อทำเป็นคันกันน้ำสำหรับรองรับปริมาณน้ำช่วงฤดูน้ำหลากจนกระทั้ง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อทรงเยี่ยมเกษตรกร และทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รอบพระราชานุสาวรีย์ในการนี้ ทรงเปิดคันบังคับน้ำ เพื่อปล่อยน้ำเข้าสู่ท่อส่งน้ำที่ 2 เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบและทรงมีพระราชดำริในเรื่องต่าง ๆ กับคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการประกอบอาชีพของราษฎรโดยพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพิจารณานำทฤษฎีใหม่มาใช้งานโดยให้ขุดสระน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝน และพิจารณาเพิ่มระดับเก็บกักรวมทั้งให้ขุดลอกสระเก็บน้ำให้ลึกลงไปตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มปริมาณความจุให้สระเก็บน้ำ และเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง
เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเพื่อทรงเกี่ยวข้าวในนา ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรัง และพระราชทานข้าวที่ทรงเกี่ยวเพื่อไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในการนี้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์ฯโดยขุดดินก้นสระให้มีความลึกโดยเฉลี่ยอีกประมาณ 1 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้มากกว่าเดิมดินที่ขุดได้ส่วนหนึ่งให้นำไปทำทางสัญจรด้านทิศเหนือขนานไปกับคันกั้นน้ำให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนริมแม่น้ำกับถนนสายใหญ่ดินอีกส่วนหนึ่งให้นำไปทำถนนเสริมคันกั้นน้ำเดิมให้สูงถึงระดับ 6.20 เมตร (รทก.) หากมีน้ำไหลหลากมากเหมือนปี 2538 จะได้ระบายน้ำเข้ามาในสระเก็บน้ำ น้ำจะได้ไม่ท่วมหลังคันกั้นน้ำซึ่งจะทำให้มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น หลังจากทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริฯ ทรงเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ที่สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จวบจนปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และจังหวัดใกล้เคียง พระองค์ท่านมีความห่วงใยพสกนิกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยดังกล่าว จึงทรงเสด็จมาให้กำลังใจและทอพระเนตรความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวสจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 อีกคราวหนึ่ง ผืนแผ่นดินแห่งนี้ คือ“ทุ่งมะขามหย่องแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่สถิตในดวงใจ พสกนิกรชาวพระนครศรีอยุธยา ตราบนิรันดร์”
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน