มุกดาหารจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567เวลา 09.00 น. นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องริเวอร์แกรนด์ โรงแรมริเวอร์ซิตี้ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ขับเคลื่อน บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีแนวทางในการพัฒนาคือ การจัดทำแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด การใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนย่อย ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จังหวัดมุกดาหารได้จัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจังหวัดมุกดาหาร ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พบว่า จังหวัดมุกดาหารมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 473,401 ตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า และคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ จำนวน 980,412 ตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจังหวัดมุกดาหาร จึงร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดมุกดาหาร จำนวน ๑๔ มาตรการ ซึ่งหากจังหวัดมุกดาหารสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวได้สำเร็จ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 26.9 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งเป้าหมายไว้ ร้อยละ ๓๐-๔๐ ได้
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน ๑๐๐ คน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดมุกดาหาร มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีส่วนร่วม มีการเก็บข้อมูลจากการดำเนินกิจกรรมและนำมาคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากการดำเนินกิจกรรมได้ เช่น กิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล และถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยสามารถขอรับรองประกาศเกียรติคุณจากการสมัครเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการ LESS ซึ่งจะสามารถขยายผลให้ชุมชนมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านเงินทุนเทคโนโลยีและการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้จากการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยฟื้นฟูและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้จังหวัดขับเคลื่อนแผนลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.