กรมอุทยานฯ งัดมาตรการปกครอง รื้อบ้านพักตากอากาศ 3 หลัง อช.ทุ่งแสลงหลวง พิษณุโลก
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 นายทักษิณ มงคลรัตน์ ห้วหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 และเจ้าหน้าป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ได้ดำเนินการตามมาตรการทางปกครอง มาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เข้าทำการรื้อถอน โดยไม่ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุด มี 2 คดีด้วยกัน คือ คดี นางสารภี คงอินทร์ เศรษฐีนี ชาวภาคใต้ ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือโอนสิทธิ์พื้นที่สวนยางพารา จำนวน 176 ไร่ 12,320 ต้น ในเขตผ่อนผันให้ราษฎรอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการ 30 มิถุนายน 2541 ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก เป็นการกระทำผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และคดีบ้านพักตากอากาศเรือนไทย 3 หลัง
โดยคดีของนางสารภีนั้นได้เข้ามอบตัวและสู้คดีในชั้นศาลทั้งในคดีอาญาและคดีปกครอง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ตรวจยึดพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 176-3-25 ไร่ และยางพารา อายุประมาณ 14 ปี จำนวน 12,320 ต้น ซึ่งนางสารภีซื้อที่ดินมาจากราษฎรตามโครงการ 30 มิถุนายน 2541 และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลวงหลวง การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ตาม ปจว.ข้อ 2 คดีอาญา ที่ 17/2560 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2560 ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิษณุโลก มีคำพิพากษา คดีหมายแดง ที่ ส.2/2561 พิพากษาว่า นางสารภีไม่มีสิทธิ์อยู่ในที่ดินที่พิพาทและให้อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงใช้มาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ รื้อถอนต้นยางพาราได้ จำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษา คดีทางปกครองจึงถึงที่สุดในชั้นศาลปกครองชั้นต้น พร้อมกันนี้ ทางอุทยานฯ ได้ดำเนินการติดประกาศแจ้งเตือนให้รื้อถอนตามแบบ อช.ม.22 (ค) หากไม่ดำเนินการรื้อถอนต้นยางพาราภายใน 30 วัน จะดำเนินการสนธิกำลังเพื่อทำการรื้อถอนตามกฎหมายต่อไป
ส่วนคดีบ้านพัก 3 หลังนั้น ไม่มีผู้แสดงตนว่าเป็นเจ้าของ จึงดำเนินการตามมาตรการทางปกครอง มาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 คดีไม่พบตัวผู้กระทำผิด ไม่มีใครมาแสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดบ้านพักตากอากาศทรงไทย 3 หลัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตาม ปจว.ข้อ 6 คดีอาญา ที่ 36/2560 เวลา 22.20 น. ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ซึ่งอัยการพิษณุโลก มีคำสั่งงดสอบสวน และอุทยานฯ ได้ดำเนินการติดประกาศแจ้งเตือนให้รื้อถอนตามแบบ อช.ม.22 (ค) และได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ซึ่งแพร่หลายในท้องถิ่นในกรณีไม่รู้ตัวผู้รับ ตามมาตรา 73 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่ให้ถือว่ารับแจ้ง เมื่อพ้น 15 วัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากไม่ดำเนินรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในกำหนดเวลา 30 วัน จะได้สนธิกำลังเพื่อทำการรื้อถอนตามกฎหมายต่อไป