ข่าวพังงา ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา

12 มิถุนายน 2567  ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบสิ่งของพระราชทานให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดพังงา และ นายจักรพงษ์ เอียบสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา ข้าราชการ หน่วยงาน คณะกรรมการโรงเรียน ประชาชนชาวจังหวัดพังงาให้การตอนรับ

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา จัดตั้งขึ้นเพื่อรับนักเรียนที่ประสบภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และนักเรียนด้อยโอกาส ดังนี้ เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจน (มากเป็นพิเศษ)ซึ่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวและเกิดคลื่นยักษ์ สึนามิ (Tsunami) ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล ซึ่งเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดพังงา ได้รับความเสียหายมากที่สุดทำให้มีเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ ไม่น้อยกว่า 600 คน และไร้ที่อยู่อาศัย 1,513 คน โรงเรียนบ้านบางสัก ตั้งอยู่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นโรงเรียนที่อาคารเรียนได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิประชานุเคราะห์ (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนแปลงสภาพโรงเรียนบ้านบางสัก จัดตั้งเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา โดยเปลี่ยนเป้าหมายการบริการ จากนักเรียนทั่วไปในชุมชน (นักเรียนไป – กลับ) เป็นเป้าหมายจัดการศึกษาในลักษณะพิเศษแบบกิน-นอน(อยู่ประจำ) บริการรับเด็กผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ และรับเด็กด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาต่างๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดต่าง ๆ เข้าเรียน ตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และการจัดการเรียนการสอนในวิชาการอาชีพสาขาการโรงแรมโดยเปิดทำการเรียนการสอน ในวันที่ 27 เมษายน 2548


โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา เป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ มีบุคลากรครูที่มีความพร้อม มีอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องปฏิบัติการต่างๆ และห้องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ โดยนักเรียนได้ดำเนินการใช้ในการเรียนการสอนและค้นคว้า หาความรู้นอกเวลาเรียน รวมทั้งได้มีการส่งเสริมงานอาชีพให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน สำหรับความเป็นอยู่ของนักเรียนนั้น นักเรียนอยู่ดีมีความสุข ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้กำหนดไว้ว่า “เรียนดี มีความสุข”โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ที่ทรงห่วงใยนักเรียนและทรงให้ความอนุเคราะห์ สนับสนุนส่งเสริมในด้านเงินทุน ทุนการศึกษา สื่ออุปกรณ์การศึกษา และโครงการและอื่นๆอีกมากมายเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด และทรงติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียน สร้างความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ครู ราชประชานุเคราะห์ทุกแห่งอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาในลักษณะพิเศษสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้การดูแลสนับสนุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ โดยจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาการโรงแรม เข้าเรียนแบบอยู่ประจำ และไป-กลับ โดยการจัดเรียนการสอนตามนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” และมุ่งเน้นการเรียนการสอนงานอาชีพให้แก่นักเรียน สร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักเรียนและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคตโรงเรียนได้การจัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาการโรงแรม และการสอนหลักสูตรทวิศึกษาในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1-3 ทำ MOU ร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า เมื่อจบการศึกษาแล้วนักเรียนจะรับวุฒิ 2 วุฒิการศึกษา ได้แก่ วุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย และวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนหลักสูตรทวิศึกษาจำนวน 73 คน และในปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนหลักสูตรทวิศึกษาจำนวน 56 คน


ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 537 คน จำนวนห้องเรียน จำนวน 33 ห้องเรียน ข้าราชการครู จำนวน 56 คน, พนักงานราชการ(ครู) จำนวน 10 คน พนักงานราชการตำแหน่ง ช่างไม้จำนวน 1 คน ,ครูอัตราจ้าง 40 คน พนักงานธุรการ 1 คน ลูกจ้างชั่วคราวคนงานและแม่บ้าน 12 คน และพี่เลี้ยงเด็กพิการ 6 คน และครูดูแลหอพัก จำนวน 2 คน รวมจำนวนครูและบุคลากรทั้งสิ้น 128 คน ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนได้รับทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 2 ทุน และในปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนที่ประสงค์ยื่นขอรับทุนทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 8 ราย ในระดับปวส.จำนวน 1 ราย และระดับปริญญาตรี จำนวน 7 ราย และในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ จำนวน 200,000 บาท โรงเรียนได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอน 3 ทักษะสู่อาชีพ ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ – กิจกรรมบาริสต้า (ร้านกาแฟของโรงเรียน) 2.กิจกรรมทักษะชีวิต – กิจกรรมลูกเสือเข้าค่ายพักแรม 3.กิจกรรมพัฒนาทักษะกีฬา – กิจกรรมกีฬากาบัดดี้
ในส่วนของการแก้ไขสภาพปัญหาและการแก้ไขจากการตรวจเยี่ยมที่ผ่านมา มี ดังนี้ การแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค โรงเรียนได้รับการแก้ไขเมื่อ ปีการศึกษา 2565 โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 6 จังหวัดตรัง เข้ามา ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมถังเก็บน้ำและระบบน้ำดื่ม จำนวน 1 บ่อ และมีการใช้น้ำอุปโภค บริโภคโดยไม่พบปัญหา น้ำไม่เพียงพอ แต่ในปีการศึกษา 2567 เนื่องจากสภาพอากาศภัยแล้ง ทำให้เมื่อ เปิดภาคเรียนที่ 1/2567 โดยเปิดเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 โรงเรียนจึงขอความอนุเคราะห์รถ น้ำจากฐานทัพเรือพังงา เพื่อส่งน้ำให้กับโรงเรียน ในระหว่างวันที่ 13-16 พฤษภาคม 2567

การขุดสระเก็บน้ำของโรงเรียนในช่วงเดือนมีนาคม 2567 โรงเรียนได้ดำเนินการลงสำรวจพื้นที่สระน้ำหลังโรงเรียน ได้วางแผน และประสานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงาขออนุเคราะห์เครื่องจักรเพื่อขุดลอกสระน้ำบริเวณหลังโรงเรียน ในช่วงที่มีปริมาณน้ำน้อย การจัดทำห้องฝึกฝนตนเอง ที่ได้รับคำแนะนำจาก พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ โรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำห้องฝึกฝนตนเองของแต่ละหอนอน โดยมีกิจกรรม 19 นาฬิกา หยุดทุกงานอ่านทุกคน เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนบทเรียนและทำการบ้าน
ปัญหาและความต้องการในปัจจุบันปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคสำหรับ นักเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียน 2.การขุดลอกสระน้ำบริเวณหลังโรงเรียนเพื่อให้มีปริมาณการกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูแล้งและการติดตั้ง ระบบปะปาจากอาคารเก็บน้ำ (อาคารสีฟ้า) ขึ้นมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง 3. คูน้ำบริเวณหน้าโรงเรียน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกคูและทำเป็นคูน้ำแบบชลประทาน 3 จุด บริเวณประตูที่ 1 บริเวณประตูที่ 2 บริเวณประตูที่ 3 4.ที่กลับรถหน้าโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำมีนักเรียน ครูและบุคลากรอยู่ภายในโรงเรียนหาก เกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย กับนักเรียนครูและบุคลากร บริเวณที่กลับรถค่อนข้างไกลจากโรงเรียน ซึ่งอาจจะ ส่งผลต่อการได้รับการรักษาทีทันท่วงที 5.ต้นไม้ใหญ่ในโรงเรียน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตัดต้นไม้ใหญ่ หากเมื่อเกิดวาตะภัยอาจจะหักโค่นลงมาทำอันตรายแก่นักเรียน ครูและบุคลากร และสร้างความเสียหายแก่อาคารเรียนได