…โฆษกกองทัพภาคที่ 3 สัญจรพบสื่อมวลชนเขลางค์นคร …โชว์ นวัตกรรมระบบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจเลือกทหาร….และการฝึกแข่งขันชุดปฏิบัติการทางทหารขนาดเล็ก
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 , ร้อยเอกหญิง มณฑิรา พรมศรี ผู้ช่วยโฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมทีมช่างภาพ PR ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 สัญจรในพื้นที่จังหวัดลำปาง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 ตามนโยบายของกองทัพบก โดยมี พลโท ธวัช ศรีสว่าง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นประธาน ณ ห้องประชุม 1 โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
มีสาระสำคัญ ได้แก่ ระบบตรวจสอบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ E – certificate สำหรับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการฯ โดยการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่ให้ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน โดยในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการแต่ละปีนั้น จะต้องมีการจำแนกความสมบูรณ์ของร่างกายเพื่อเข้ารับราชการทหาร โดยแบ่งออกเป็นบุคคล 4 จำพวก ได้แก่
จำพวกที่ 1 คนร่างกายสมบูรณ์ดี สามารถเข้ารับราชการทหารได้
จำพวกที่ 2 คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดี แม้ไม่สมบูรณ์เหมือนจำพวกที่ 1 แต่ก็ไม่ถึงกับพิการ
จำพวกที่ 3 คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีโรครักษาไม่หายภายใน 30 วัน ไม่ต้องเกณฑ์ทหารในปี ที่ป่วย แต่ต้องไปเกณฑ์ในปีถัดไป
จำพวกที่ 4 คนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร
ทั้งนี้ ในการตรวจเลือกฯ แพทย์ทหาร จำนวน 1 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตรวจเลือกฯ จะมีหน้าที่ตรวจร่างกาย เพื่อดูความผิดปกติของชายไทยที่เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกคน โดยความเห็นของแพทย์เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้คณะกรรมการตรวจเลือกฯ สามารถเลือกบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง เหมาะสมให้เข้ารับการฝึกทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในแต่ละหน่วยที่ทำการตรวจเลือกฯ จะมีชายไทยเข้ารับการตรวจเลือกฯ ประมาณวันละ 300-1,000 คน/ วัน/หน่วย ซึ่งมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งสุขภาพดีและมีความผิดปกติ อาจทำให้การตรวจร่างกายให้ได้ครบถูกต้องเป็นไปโดยยาก รวมทั้งการตรวจสอบใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของบุคคลจำพวกที่ 4 จำเป็นต้องตรวจสอบ และทบทวนความถูกต้องอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มภาระงานแก่คณะกรรมการตรวจเลือกฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคบางอย่างที่ไม่แสดงอาการ
กองทัพบกจึงมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้สำหรับทหารกองเกินผู้ใดที่เห็นว่าตนเองมีความ ไม่พร้อม, มีโรคประจำตัว, สภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนด ต้องเข้ารับการตรวจโรคอย่างละเอียด โดยคณะแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคเฉพาะทาง สามารถขอรับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกฯ ได้ตั้งแต่ห้วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไป เป็นประจำทุกปี ณ โรงพยาบาลทหารสังกัดกองทัพบก 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นการลดภาระงานแก่คณะกรรมการตรวจเลือกฯ ในการวินิจฉัยโรคของบุคคลจำพวกที่ 4
โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี มณฑลทหารบกที่ 32 ได้คิดค้นนวัตกรรมระบบตรวจสอบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate) เปลี่ยนจากการตรวจสอบใบรับรองแพทย์แบบดั้งเดิม (Manual) เป็นระบบ(System) ตรวจสอบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สำหรับคณะกรรมการแพทย์ตรวจเลือกฯ ได้กำหนดระบบรักษาความปลอดภัยไว้ จากเดิมต้องใช้บุคคลตรวจสอบเป็นรายๆ ไป ซึ่งมีปัญหาและใช้เวลามากในการตรวจสอบ กลายเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบฐานข้อมูลที่รวดเร็ว เป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นส่วนหนึ่งในทฤษฏีการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) ใช้วิธีตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน (Data Triangulation) กล่าวคือ
1. แหล่งข้อมูลใบรับรองแพทย์ ที่ผู้ที่เข้ามารับการตรวจเลือกฯ นำมาสำแดงในวันนั้น
2. แหล่งข้อมูลรายชื่อบุคคลจำพวกที่ 4 จากส่วนกลาง
3. แหล่งข้อมูลระบบตรวจสอบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate)
จากทฤษฎีเมื่อแหล่งข้อมูล 3 แหล่งมีข้อมูลผลลัพธ์ตรงกัน จึงทำให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือมาก และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพในการตรวจสอบใบรับรองแพทย์บุคคลจำพวกที่ 4 ให้รวดเร็วขึ้นด้วย
จากผลงานที่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ทางทหารด้านหลักการประจำปี 2560 จากกองทัพบก และได้ขยายผลนำมาใช้ในการตรวจเลือกฯ ประจำปี พ.ศ. 2561 ทั้งประเทศจริง ครอบคลุม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครฯ รวมจำนวนผู้ที่เข้ามารับการตรวจเลือกฯ ที่นำใบรับรองแพทย์ที่ระบุโรคที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร (บุคคลจำพวกที่ 4) ทั้งหมด 3,939 ราย ส่งผลให้งานวิจัยดังกล่าว ได้ผ่านเกณฑ์การประเมิน “ระดับดี” รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ประจำปี พ.ศ. 2562 เพิ่มเติมเป็นเกียรติแก่ กองทัพภาคที่ 3 อีกด้วย
ตามนโยบายของกองทัพบก เพื่อดำรงขีดความสามารถของชุดปฏิบัติการหน่วยทหารขนาดเล็ก (ชป.นทล.) ให้ได้มาตรฐานตามคุณลักษณะและขีดความสามารถของหน่วยกำลังรบระดับกองพัน จึงได้จัดการตรวจสอบและแข่งขันชุดปฏิบัติการหน่วยทหารขนาดเล็ก (ชป.นทล.) ของกองทัพบก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป โดยจะดำเนินการตรวจสอบและแข่งขันหมุนเวียน 3 ชป.นทล. ที่ได้จัดตั้งไว้ ได้แก่ ชป.นทล. ปี 59, ชป.นทล. ปี 60 และ ชป.นทล. ปี 61 ของ หน่วยกองพันทหารราบ และหน่วยกองพันทหารม้า ของทุกกองทัพภาค และเริ่มทำการตรวจสอบและแข่งขัน ชป.นทล. ปี 59 ในปีงบประมาณ 2562 นี้ เป็นลำดับแรก และในปีงบประมาณต่อๆ ไป ตามลำดับ
การทดสอบทักษะพื้นฐานเป็นบุคคลของ ชป.นทล. ซึ่งประกอบด้วยกำลังพลนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวน จำนวน 12 นาย/ชุดปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อ ให้มีความเข็มแข็ง อดทน ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปฏิบัติการเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็กตามมาตรฐานด้านเทคนิค ยุทธวิธี และขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งสามารถใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษตามกิจเฉพาะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตรวจสอบและแข่งขัน แบ่งออกเป็น 4 ขั้น (จำนวน 10 วัน)
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้กำหนดจัดการตรวจสอบและแข่งขัน ชุดปฏิบัติการหน่วยทหารขนาดเล็ก (ชป.นทล.) ประจำปี 2562 โดยมีหน่วยกองพันทหารราบ และหน่วยกองพันทหารม้า ในส่วนของกองทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมการตรวจสอบและแข่งขัน จำนวน 18 หน่วย ระหว่างห้วงวันที่ 20 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2562 ณ กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ความสามารถ เป็นการเตรียมกำลัง ให้มีความพร้อมสำหรับภารกิจปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติสืบไป