ข่าวพังงา ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

เปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่น 44 ครั้งแรกในฝั่งอันดามัน ขยายโอกาสพัฒนาเยาวชนชายแดนใต้

11 เมษายน 2568 ณ หอประชุมจำปูน ศูนย์ราชการจังหวัดพังงา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 44 พื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีนายไพรัตน์ เพชรยวน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต เลขาธิการมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” กล่าวรายงาน โดยมีผู้ร่วมงาน อาทิ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ครอบครัวอุปถัมภ์ ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน รวมทั้ง เยาวชนในโครงการฯ 120 คน ให้การต้อนรับ


ก่อนเข้าสู่พิธีเปิดผู้ร่วมพิธีได้รับชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับโครงการฯ รับฟังถ้อยแถลงจากผู้แทนเยาวชนและครอบครัวอุปถัมภ์ จากนั้นนายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ มอบโล่ที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุน พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มอบเสื้อโครงการแก่ตัวแทนเยาวชน ก่อนจะส่งมอบเยาวชนให้แก่ครอบครัวอุปถัมภ์


ในการนี้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้โอวาทกับเหล่าเยาวชนผู้ร่วมโครงการว่า นำความรู้ที่ได้จากโครงการดังกล่าวไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองทั้งด้านการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม และมีความรักความสามัคคี ดังคำกล่าวที่ว่า “เกิดมาต้องทดแทนคุณแผ่นดิน”
โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” จัดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ตามดำริของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 44 มีเยาวชนจำนวน 120 คน และครอบครัวอุปถัมภ์ 59 ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ พังงา กระบี่ และภูเก็ต ระหว่างวันที่ 2 – 24 เมษายน 2568 โดยมีเป้าหมายในการเปิดโลกทัศน์ สร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะให้เยาวชนได้ฝึกการอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ความหลากหลาย และพัฒนาทักษะชีวิตในรูปแบบใหม่ การจัดโครงการในฝั่งทะเลอันดามันครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิฯ ขยายพื้นที่ออกนอกจากพื้นที่ภาคกลาง เพื่อรองรับเยาวชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการซึ่งมีจำนวนมากเกินกว่าที่โครงการจะรับได้ในแต่ละรุ่น ซึ่งโดยปกติจะรองรับได้เพียง 320 คน การขยายพื้นที่จึงช่วยให้สามารถเปิดรับได้มากขึ้น และกระจายโอกาสสู่เยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในภูมิลำเนา ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในพื้นที่ใหม่ ๆ ภายใต้ความดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์ ทั้งยังเป็นเวทีให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมกันส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่เปราะบาง เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) ได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง สร้างความเข้าใจและอยู่ร่วมในสังคมไทยอย่างสันติ เติบโตด้วยศักยภาพและความเข้าใจในความหลากหลาย