พิษณุโลก ร่วมทำแนวป้องกันไฟป่า ลดปัญหาฝุ่นละอองไฟป่า โครงการรวมใจภักดิ์รักษ์ผืนป่า เขาน้อยเขาประดู่
เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าพิษณุโลก ร่วมกับทหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติพิษณุโลก องค์กรภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมกันทำแนวกันไฟป้องกันปัญหาไฟป่า ในเขตพื้นที่ป่าเขาน้อยเขาประดู่ อ.วังทอง ระยะทาง 2 กม. หลังเป็นพื้นที่เสี่ยงการเกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 และผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าพิษณุโลก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอวังทอง สาธารณสุข ทหารจากค่ายสฤษดิ์เสนา ภาครัฐภาคเอกชน อาสาสมัครคุมประพฤติ กว่า 250 คน ร่วมกิจกรรมโครงการรวมใจภักดิ์รักผืนป่า เขาน้อย เขาประดู่ ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-พิษณุโลก ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันทำแนวป้องกันไฟป่า รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร หลังเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดไฟป่า อีกทั้งในระยะนี้ในพื้นที่ อ.วังทอง มีพื้นที่ไฟป่ามากขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำแนวป้องกันไฟตามพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีหมอกควันฝุ่นละอองปกคลุม เป็นอันตราย ต่อสุขภาพประชาชน เพื่อลดปัญหาด้านฝุ่น PM 2.5 ฟุ้งกระจาย ทำให้บางวันเกินค่ามาตรฐาน
อีกทั้งเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการจิตอาสา ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดปัญหาไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ลดมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ และเพื่อเป็นการสืบสานตามแนวพระราชปณิธาน บูรณาการจัดกิจกรรมจิตอาสาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ตลอดจนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้และเห็นโทษหากมีการทำลาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเกิดจิตสำนึกและ หวงแหน ทรัพยากรธรรมชาติ
สำหรับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก เป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อยเขาประดู่ เป็นสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี มักประสบปัญหาไฟป่า ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ (เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ล่าไก่ป่า ผักหวาน และหน่อไม้) จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
ปรีชา นุตจรัส ราย งาน