เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จับมือ 2 กระทรวงใหญ่ เตรียมจัดงานนานาชาติ “พลังศิลปวัฒนธรรมสรรค์สร้างเศรษฐกิจ” ส่งเสริม SOFT POWER–ARTS AND CULTURE IN CREATIVE
นำเสนอผลงานเด่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก
ที่ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นประธานการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 4 และนานาชาติครั้งที่ 14 ด้านศิลปะและวัฒนธรรม “พลังศิลปวัฒนธรรมสรรค์สร้างเศรษฐกิจ” THE 4th NATIONAL AND THE 14th INTERNATIONAL CONFERENCE ON ARTS AND CULTURE: SOFT POWER–ARTS AND CULTURE IN CREATIVE ECONOMY (ICAC2024) โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ร่วมกับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย,กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย รวม 15หน่วยงานหลัก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครกล่าวว่า กิจกรรมสำคัญของงานครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมในระดับระดับนานาชาติ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (International Conference on Arts and Culture) การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย และผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตหรือนักศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ของดีบ้านฉัน” นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละสถาบันการศึกษาได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างกันอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การแสดงของท้องถิ่น ภูมิปัญญาของท้องถิ่น การพัฒนาท้องถิ่นในมิติของศิลปวัฒนธรรม งานวิจัยสร้างสรรค์ การบูรณาการศิลปวัฒนธรรมเข้ากับการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนทรัพยากร บุคลากรและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และการบริหารจัดการงานด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ต้องการสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่า
ความสำนึก และความภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติโดยมีการประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนา ท้องถิ่น ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเน้นย้ำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีบทบาทในการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยความพิเศษในปีนี้คือการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ผลการวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ด้าน ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของชาติการลงนามในบันทึกความ ร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมงานในมิติการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม และ Soft Power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ สู่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร กล่าวอีกว่า เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งและดำเนินงานมากว่า 12 ปี แล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย มีจํานวน 15 หน่วยงานหลัก และเครือข่ายต่างประเทศ 10 หน่วยงาน โดยมี สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคเอกชน องค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม สมาคมุรกิจด้านการท่องเที่ยว และเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ Can Tho University, Vietnam , Dali University, China ,ILOILO State University of Fisheries Science and Technology, Philippines, Kyoai Gakuen University, Japan, Manipur University of Culture, India, National University of Arts and Culture Yangon, Myanmar , October 6 University, Egypt , Pangasinan State University (Main Campus), Philippines, Paro College of Education, Bhutan, University of Social Sciences and Humanities,Vietnam
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร กล่าวอีกว่า ในปีนี้ได้เรียนเชิญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของ อว. กับการขับเคลื่อน Soft Power” โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการเสวนาพิเศษ เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาใน การส่งเสริม Soft Power สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ นักออกแบบอาหาร หรือ “ฟู้ดสไตลิสต์” แนวคิดด้วยปรัชญา “นำ Local สู่ เลอค่า” ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และดร.นงรัตน์ อิสโร ที่ปรึกษาที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรื่อง การส่งเสริม Soft Power การจัดประกวด การจัดนิทรรศการเพื่อแสดงวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา ท้องถิ่น การสาธิตภูมิ ปัญญาของท้องถิ่น การออกร้านสินค้า ทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพด้านการ วิจัยของมหาวิทยาลัยอันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ แสดงถึงความก้าวหน้า ทางวิชาการที่สมควรได้รับการส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการร่วมผลักดันพลังของ Soft Power ที่เป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน เช่น การผสมผสาน ระหว่างมรดกวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมร่วมสมัย ด้วยแนวคิด 5F Creative Champions ประกอบด้วย Fighting (มวยไทย) Food (อาหาร) Fashion (แฟชั่น), Film (ภาพยนตร์) และ Festival (เทศกาลต่างๆ) ของแต่ละสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นว่างานศิลปวัฒนธรรมจะสะท้อนความครบเครื่องของความเป็นไทยที่มีศักยภาพ ในการแปลง “คุณค่า” ให้เป็น “มูลค่า” อันจะเป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. สอบถาม 0 9 4749 0200 หรือ https://arts.pnru.ac.th/detailmenu/16.
สุพจน์ วรสหวัฒน์/ รายงาน