แม่ทัพน้อยที่ 3 ประชุมซักซ้อมแผนการดำเนินการป้องกันและควบคุมพืชเสพติดในพื้นที่จังหวัดตาก ประจำปีงบประมาณ 2562 จังหวัดตากหวังแก้ไขปัญหาฝิ่นพื้นที่รอยต่อของจังหวัด
พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแผนการดำเนินการป้องกันและควบคุมพืชเสพติดในพื้นที่จังหวัดตาก ประจำปีงบประมาณ 2562 ณ ห้องประชุมตากสินมหาราช ศาลากลางจังหวัดตาก โดยมีพลตรี ณรัช สิงห์ปภาภรณ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310 นายวรานนท์ ยิ้มมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พล.ต.ต.มานะ อินพิทักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการมอบแนวทางการปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนซักซ้อมทำความเข้าใจในการเข้าควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่นและการตัดทำลายไร่ฝิ่น ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อจัดการกับปัญหา เงื่อนไข อิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ยังคงเหลืออยู่ และมุ่งเน้นการเฝ้าระวัง การสร้างความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
จากสถานการณ์ในรอบปี 2560/2561 พื้นที่จังหวัดตากถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากที่สุดของประเทศ โดยมีพื้นที่รวม 379.16 ไร่ พบมากในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง โดยสถานการณ์ล่าสุดยังคงพบในพื้นที่อำเภอทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งพื้นที่อำเภอท่าสองยาง พบมากถึง 87.41 ไร่ บริเวณรอยต่อของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการเตรียมแปลงปลูกและบางส่วนเริ่มมีการปลูกแล้ว โดยลักษณะพื้นที่จะอยู่ไกลและกันดารยิ่งขึ้น เพื่อหลบซ่อนการตรวจพบของเจ้าหน้าที่
สำหรับแนวโน้มในปี 2562 คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกฝิ่นโดยรวมไม่ต่างจากปีที่ 2561 เนื่องจากมีมาตรการป้องกันและยับยั้งการลักลอบปลูกฝิ่นอย่างเข้มงวดในช่วงก่อนฤดูการปลูกฝิ่น คือ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ประกอบกับได้มีการปราบปรามนายทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการปลูกฝิ่น รวมถึงการเข้าไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตและพัฒนาทางเลือกที่พบการปลูกฝิ่นหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีการเร่งรัดในการเข้าถึงพื้นที่ โดยมีการก่อสร้างถนนและพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อให้การแก้ไขปัญหาพื้นฐานของราษฎรในพื้นที่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความต้องการของผู้เสพ/ผู้ติดฝิ่นและราคาฝิ่นดิบในพื้นที่ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ ถือว่าเป็นพื้นที่พิเศษ จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั้งยืน