ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวอุตรดิตถ์ ข่าวเด่น

ชาวลับแลร่วมสืบสานประเพณีเก่าแก่ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ “ค้างบูยา”

11 กันยายน 2567 ที่วัดหัวดง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ชาวเมืองลับแลต่างพร้อมใจสวมใส่ผ้าไทย ร่ายรำสนุกสนานด้วยกลองยาวจากเด็กๆนักเรียนในชุมชน เพื่อแห่ขบวน “ค้างบูยา” และ “สลากชะลอม” จากชุมชนต่างๆ มายังวัดหัวดงถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นวิถีชุมชนชาวเมืองลับแลที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น โดยจะจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษา ชาวลับแลร่วมอนุรักษ์สืบสานมานานกว่า 100 ปี โดยคณะครูยังได้พานักเรียนมาร่วมเรียนรู้ประเพณีดั่งเดิมของบุรุษชาวลับแลด้วย โดยที่วัดหัวดง พุทธศาสนิกชนพร้อมในถวาย “ค้างบูยา” จำนวน 11 ค้าง สลากชะลอม 1,288 ใบ


นายเพลิน สิริเกตุ มัคนายกวัดหัวดง กล่าวว่า ค้างบูยา เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อ.ลับแล แสดงถึงสายสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวลับแลร่วมอนุรักษ์สืบสาน เป็นประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษา เพื่อถวายข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ คล้ายกับการทอดผ้าป่า “ค้างบูยา” หรือ “ก๊างบูยา” คำว่า “ก๊าง” คือ กิ่ง และ “ บูยา” คือ การนำยาเส้นมามวน แขวนไว้ที่ก๊าง สมัยก่อนจะเน้นประดับตกแต่งด้วยมวนบุหรี่จำนวนมาก ปัจจุบันลดปริมาณลงแล้วแต่ยังพอมีให้เห็น เปลี่ยนของกินของใช้ห้อยแขวน แต่ ละชั้นจะประดับตกให้ดูสวยงามเปรียบเหมือนต้นกัลปพฤกษ์ ด้านล่างจะเป็นกระจาด ใส่ พืชไร่ พืชสวน ผลผลิตในชุมชน ของชาวลับแล ทุเรียน ลางสาด ลองกอง กล้วย ฟัก ฟักทอง เป็นต้น


บนยอดค้างประดับด้วยดอกไม้กระดาษ และ ตัวหงส์ มีธนบัตรห้อยตามความสวยงาม ในแต่ละปีการถวาย ส่วน “สลากชะลอม” สานจากไม้ไผ่ กรุด้วยใบตองเพื่อไม่ให้มองเห็นของข้างใน ใส่ขนมโบราณ ขนมแหนบ ขนมเทียน ขนมแตง ขนมพี่ขนมน้อง และใส่ ข้าวปลาอาหารแห้ง ผลไม้ หมากพลู ลางสาด ลองกองอย่างละนิดละหน่อยแต่มีครบทุกอย่าง โดยแต่ละครอบครัวจะทำชะลอม ให้เกินจำนวนสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1 ใบ ประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร ที่พุทธศาสนิกชนอำเภอลับแล สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ถือเป็นการทำบุญช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หรือใกล้วันออกพรรษา
“หลังถวายพระสงฆ์ตามประเพณีแล้ว ค้างบูยา นำถวายตามวัดต่างๆที่นิมนต์พระสงฆ์มา ส่วนที่เหลือนำมาปัจจัยนำมาทำนุบำรุงศาสนสถาน ค่าน้ำค่าไฟให้กับทางวัด และสมทบถวายพระสงฆ์ที่อาพาธ ส่วน ชะลอม จัดแบ่งให้กับพระสงฆ์ทุกวัด ที่เหลือจัดให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ และมอบให้กับเรือนจำ รวมไปถึงพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากของในชะลอมเป็นสิ่งของที่สามารถรับประทานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวลับแลยึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง”

นาคา คะเลิศรัมย์ รายงาน