สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประชุมคณะอนุกรรมการโครงการร้อยใจรักษ์ระดับพื้นที่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มอบหมายให้นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยนายธันวา ผุดผ่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการโครงการร้อยใจรักษ์ระดับพื้นที่ โดยมีหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ / ประธานคณะอนุกรรมการโครงการร้อยใจรักษ์ระดับพื้นที่ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.อ.สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะอนุกรรมการ อาทิเช่น นายนิรัตน์ พงศ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นคณะอนุกรรมการเข้าร่วมประชุมทุกภาคส่วน รวม 70 ท่าน/หน่วยงาน
โครงการร้อยใจรักษ์ เกิดขึ้นเนื่องจากพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาในการนำ “หลักการพัฒนาทางเลือกศาสตร์พระราชา ตำราแม่ฟ้าหลวง” มาแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ปัญหายาเสพติดรุนแรง อันเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน และกระทบต่อสังคมโดยรวม เนื่องมาจากความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำการจัดสรรทรัพยากร กลุ่มผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้านห้วยส้าน ขบวนการค้ายาเสพติด ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ภายหลังจากหน่วยงานภาครัฐเข้าดำเนินการจับกุมนายเล่าต๋า แสนลี่พร้อมพวกในคดีครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นในปี 2560 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เริ่มเข้าดำเนินการในการพัฒนาชีวิตอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย 3 หมู่บ้าน 20 หย่อมบ้าน
ในปีงบประมาณที่ผ่านโครงการร้อยใจรักษ์ได้เข้าสนับสนุนสมาชิกเกษตรกรกว่า 1,159 ครัวเรือน รวมประชากรสมาชิกประมาณ 4,297 ราย ในการปลูกพืชมากกว่า 18 ชนิด พัฒนาระบบชลประทาน ระบบน้ำอุปโภคและบริโภค การเกษตรครอบคลุมพื้นที่โครงการสร้างรายได้รวมให้ประชาชนในพื้นที่ 63.2 ล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 61,293 บาท/คน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ความยากจนของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างรายได้ต่อปีเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 241,143บาท/ครัวเรือน หนี้สินต่อครัวเรือน ลดลงร้อยละ 7 ปัญหาความยากจนเหลือเพียง 165 ครัวเรือน หรือเพียง 12 % การส่งเสริมการเกษตรเชิงประณีต/การแปรรูปเพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสร้างรายได้ 2.96 ล้านบาท เปิดตลาดร้อยใจรักษ์เป็นตลาดชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับสวนร้อยใจรักษ์สร้างรายได้ 22.3 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางศาสตร์พระราชา ตำราแม่ฟ้าหลวง
ในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดการลดการแพร่ระบาดของนักค้ารายย่อยในพื้นที่ สามารถดำเนินการจับกุมได้ 7 คดี ผู้ต้องหา 8 ราย ยาบ้า 420 เม็ด นำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนบำบัดแบบสมัครใจ จำนวน 22 ราย และเพื่อสร้างความยั่งยืน โครงการร้อยใจรักษ์ได้ดำเนินการหมู่บ้านปลอดยาเสพติดโครงการร้อยใจรักษ์ 4 หมู่บ้าน 20 หย่อมบ้าน โดยใช้กฎชุมชนตามแนวทาง Rules of law ในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการดูแลภายในชุมชน.