รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เสวนาทางวิชาการความสำเร็จการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงาน
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 12.30 ที่ห้องประชุมพลอยไพลิน โรงแรมกรีน เลค รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดงานเสวนาทางวิชาการ ความสำเร็จการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 หน่วยงานราชการ อปท.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานเสวนาฯในครั้งนี้
นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่ากรมควบคุมมลพิษ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานเปิด “การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ความสำเร็จการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าจังหวัดเชียงใหม่” ที่จัดขึ้นในวันนี้ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการช่วยกันปรับปรุงพื้นฟูคลองแม่ข่าที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่ขณะนี้ ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่ามีมาอย่างยาวนาน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า อย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการสำคัญๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฯ ประกอบด้วย การบริหารจัดการน้ำ, การจัดการน้ำเสีย, การปรับปรุงภูมิทัศน์ และการมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน และการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้เมื่อทุกท่านช่วยกันขับเคลื่อนให้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีเรื่องของปัญหามลพิษที่บรรเทาความรุนแรงลง สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วย อาทิ ภาคการ
ท่องเที่ยวการคมนาคมและขนส่ง ภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนและท้ายสุดส่งผลให้คุณภาพชีวิตของทุกๆ ท่านให้ดีขึ้น
หลังจากนั้น นายไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ, นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล นายช่างชลประทานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการซลประทานเชียงใหม่, นายกิตติ ธีรสรเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำเสีย องค์การจัดการน้ำเสีย, นายจิโรจน์ โรจนเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่, นางดวงใจ ดวงทิพย์ ผู้อำนวยการส่วนการจัดการกากของเสียและสารอันตราย และนางสาววิมลชญาน์ สถิตสุนทรพันธ์
ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวตล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “ความเป็นมาของการดำเนินงานแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า” / หัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำ” (ประเด็นการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและการส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ) / “การจัดการน้ำเสีย” (ระบบรวบรวมน้ำเสียและปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย) / “การปรับปรุงภูมิทัศน์” / “การมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึก”
คลองแม่ข่า ฟื้นชีวิตเป็นแหล่งการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจคลองแม่ข่าหรือน้ำแม่ข่า เป็นคลองธรรมชาติที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอหางดง ไหลลงสู่แม่น้ำปิง มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 30 กิโลเมตร จากปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่ามาเป็นเวลายาวนาน ในปี พ.ศ. 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คพ. ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ หารือเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าอย่างจริงจัง ต่อมา จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561- 2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข” เพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ซึ่ง คพ. ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของคลองแม่ข่ามาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าคุณภาพน้ำในช่วงต้นน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่เมื่อไหลผ่านชุมชนเมือง จะมีคุณภาพเสื่อมโทรมลง
คพ. ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ร่วมแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยมี แนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า ประกอบด้วย การจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน โดยปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิด ประตูผันน้ำจากคลองแม่ข่าสู่ แม่น้ำปิงให้เหมาะสม เพื่อให้น้ำจากต้นน้ำไหลสู่คลองแม่ข่ามากขึ้น, การจัดการระบบรวบรวมน้ำเสียชุมชน การปรับปรุงซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครเชียงใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนการสูบน้ำเสีย จากระบบการตั้งเวลาสูบ เป็นระบบลูกลอย และปรับปรุงระดับคันกั้น ของอาคารผันน้ำให้สูงขึ้น รวมทั้งให้ทำรางระบายน้ำเสียจากตลาดสดเทศบาลลงสู่ท่อรวบรวมน้ำเสียหลัก เพื่อไม่ให้มี น้ำเสียไหลลงสู่คลองแม่ข่า, ท่อดักน้ำเสียและภูมิทัศน์บริเวณแนวคลองแม่ข่า การปรับปรุงซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสีย ของเทศบาลนครเชียงใหม่และก่อสร้างท่อดักน้ำเสียริมคลองแม่ข่า ตำบลช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียจากชุมชนไหลลงคลองแม่ข่า และการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมให้ความรู้การจัดการน้ำเสียชุมชน และการมี ส่วนร่วมทุกภาคส่วนของชุมชนริมคลองแม่ข่า
จากการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ปัจจุบันคลองแม่ข่า ที่เคยเป็นคลองน้ำเสีย บางช่วงได้เปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น พื้นที่ระหว่างสะพานระแกงถึงชุมชนฟ้าใหม่ ประตูก้อม ระยะทาง 775 เมตร เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ปรับภูมิทัศน์ระยะที่ 1 ได้สวยงาม จนได้รับสมญาใหม่ว่าเป็น ‘คลองโอตารุ’ ของจังหวัดเชียงใหม่ และที่บริเวณบ้านพระนอน และบ้านป่ารวก พื้นที่ อบต.ดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาสองฝั่งคลอง ระยะทาง 500 เมตร ให้เป็นสวนสวยและทางเดินสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย โดยนำโมเดลการพัฒนาคลองน้ำเสื่อมโทรมให้กลายเป็นคลองน้ำใส เช่น คลองชองกเยชอน ในเกาหลีใต้ มาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่แบ่งปันสำหรับคนเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ใช่เพียงการปรับปรุงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมรีโนเวทบ้านเรือนของตัวเอง เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ โดยบางหลังเปลี่ยนเป็นร้านค้า ร้านอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ อีกช่องทางหนึ่ง คลองแม่ข่านี้ยังมีความหวังและไม่ใช่แค่กลับมาเป็นแหล่งน้ำใส แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในพื้นที่และภาพความสวยงามเช่นนี้จะยังคงยั่งยืนอยู่ได้ ถ้าหากเราทุกคนช่วยกัน
ภายหลังจากการร่วมเสวนา คณะฯ กรมควบคุมมลพิษการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าและจัดการขยะมูลฝอย อบต.ดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปยังคลองแม่ข่า ลงพื้นที่ ติดตามการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า (ช่วงต้นน้ำ-สวนสาธารณะ) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ติดการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า( ช่วงปลายน้ำ) สะพานแม่ข่าระแกง ต.ช้างคลาน อ.เมือง เชียงใหม่.
ทรงวุฒิ ทับทอง