วันที่ (10 ก.ย. 2566) เวลา 10.30 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายธรณิศ เทพแพงตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด นายวสันต์ พรหมดีสาร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำยัง ที่ประตูระบายน้ำกุดปลาเข็ง ตำบลวังหลวงและพื้นที่บ้านบาก ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ โดยมีนายอำเภอเสลภูมิ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
นายธรณิศ เทพแพงตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยังที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยระดับน้ำในลำน้ำยัง (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กันยายน 2566 เวลา 15.10 น.) ระดับน้ำสถานี E.70 บ้านกุดกว้าง ตำบลวังสามัคคี อำเภอโพนทอง ระดับตลิ่งสูง 9.00 เมตร ระดับน้ำสูง 9.53 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.53 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว สถานี E.92 บ้านท่างาม ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระดับตลิ่งสูง 8.80 เมตร ระดับน้ำสูง 10.93 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 2.13 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว ประกอบกับข้อมูลจากผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด ทำให้ทราบว่า บริเวณตอนบน ทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนลำปาวเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สถานการณ์น้ำทั้งลำน้ำชีและลำน้ำยัง อยู่ในเกณฑ์ปกติและ แจ้งเตือนเป็นลักษณะของธงสีเขียว การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนช่วงนี้จะมีฝนเบาบาง การคาดการณ์ทางอุทกวิทยา ประมาณวันที่ 13 กันยายน 2566 ปริมาณน้ำจะมีปริมาณลดลงต่ำกว่าตลิ่ง แต่อย่างไรก็ตามกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบความพร้อมของแนวพนังกั้นน้ำ เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงของพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพที่คงทนแข็งแรง ซึ่งได้รับความร่วมมือฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายทุกพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณลุ่มริมแม่น้ำ พร้อมทั้ง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อม ในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องจักรกล และกำลังพลให้มีความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในทันที และขอให้ประชาชนอย่างตื่นตระหนก ให้ดำเนินชีวิตตามปกติ แต่อย่าประมาท ให้เฝ้าระวังติดตามการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ แนวคั่นบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน และช่วยกันสร้างความรับรู้แก่ประชาชน โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง ตลอดจนกำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ อย่างทั่วถึงอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังกำชับให้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ โดยให้ความสำคัญกับผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กไร้อุปการะ คนพิการทุพพลภาพ
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นพื้นที่เสี่ยงที่มักจะเกิดอุทกภัยเมื่อฝนตกหนักอย่างซ้ำซาก หรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อประสานงานที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 043- 512955 สายด่วนนิรภัย 1784 หรือที่ Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ” หรือช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยที่ สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยด่วนต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในช่วงท้าย
สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0885730542-ข่าว