Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

ปปส. ภาค 5 บูรณาการ 3 หน่วยงาน แก้ไขปัญหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเรือนจำและคุมประพฤติ พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

ปปส. ภาค 5 บูรณาการ 3 หน่วยงาน แก้ไขปัญหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเรือนจำและคุมประพฤติ พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน


เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ปปส. ภาค 5 เป็นประธานเปิดโครงการประชุมบูรณาการการแก้ไขปัญหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเรือนจำและคุมประพฤติ พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และได้รับเกียรติจาก นายสมรัตน์ เข็มศิริ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ปปส.ภาค 5 เรือนจำจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กว่า 80 คน เพื่อหารือจัดทำแนวทางการส่งต่อผู้เสพยาเสพติดที่ศาลสั่งคุมประพฤติ เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และแนวทางในการยกระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผู้กระทำผิดได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เพื่อสร้างอนาคตให้กับตนเอง รวมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและพฤติกรรมให้สามารถเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

การประชุมในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งในภารกิจนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการจะลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน มุ่งจัดการแก้ไขปัญหาด้วยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามข้อสั่งการของพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในคราวประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวการส่งต่อผู้เสพยาเสพติดที่ศาลสั่งคุมประพฤติให้เข้าสู่กระบวนการบําบัดฟื้นฟูยาเสพติด และการจัดการศึกษา การฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อพัฒนาศักยภาพหาเลี้ยงชีพได้เมื่อพ้นโทษ
นอกจากนี้ยังกำหนดให้เรือนจำ ดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขัง เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องจากพบว่าผู้ออกจากระบบการศึกษามีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดซ้ำมากกว่า โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ คือ ให้ผู้ต้องขังสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น และมีวิชาชีพ ที่สำคัญเรือนเป็นสถานที่พัฒนาพฤตินิสัยและเป็นมหาลัยชีวิต ที่ทุกคนมีโอกาสเรียนหนังสือ สร้างอนาคตให้ตนเองและความมั่นคงให้กับประเทศต่อไป.